-

@ Tintin
2025-05-19 02:30:30
ตอนที่ 2: มือกีตาร์กับกลไกราคา
คอร์ด F… ศัตรูตัวฉกาจของมือกีตาร์มือใหม่แทบทุกคน
ใครเคยจับกีตาร์มาแล้วน่าจะรู้ดี นี่แหละครับ “จุดวัดใจ” ว่าจะไปต่อ หรือวางกีตาร์แล้วกลับไปเล่นในสิ่งที่ถนัด สำหรับผมก็คือเป่าขลุ่ยกับตีกลองที่พอเอาตัวรอดได้ ตัวผมเอง…ผมเริ่มหัดเล่นกีตาร์ตอนอายุ 50 ไม่ใช่ช่วงวัยที่นิ้วจะยืดหยุ่นเหมือนเด็กวัยรุ่น แน่นอนครับ เจ็บนิ้วบ้าง เสียงบอดบ้าง จับไม่ติดบ้าง แต่ก็พยายามจน “ผ่านมันมาได้” (และภูมิใจมาก… เหมือนผ่านด่านบอสในเกม) แต่ก็ยังไม่ได้ดีเท่ากับมืออาชีพนะครับ บางคนก็ใช้วิธีลัด เช่น ตัดเพลงที่มีคอร์ด F ออกไปจากเพลย์ลิสต์ หรือจับคอร์ดแบบไม่เต็มฟอร์ม มันก็เล่นได้นะครับ แต่เสียงที่ได้ก็จะไม่กลม ไม่นุ่ม ไม่มีความลื่นไหลที่เพลงบางเพลงต้องการ
ทีนี้…ลองคิดดูดีๆ
สิ่งที่เรากำลัง “ตัดสินใจ” อยู่ตรงนั้นแหละครับ—เศรษฐศาสตร์ ล้วนๆ โดยเฉพาะในมุมมองของ “กลไกราคา” ตามแนวคิดของเศรษฐศาสตร์ออสเตรียน ถ้า:
คอร์ด F = ต้นทุน | เล่นหรือเลี่ยง = การตัดสินใจทางเศรษฐศาสตร์
คอร์ด F ก็เหมือนต้นทุนครับ การเล่นให้ได้ ต้องแลกมาด้วยแรง เวลา และความเจ็บนิ้ว บางคนอาจประเมินแล้วว่า “ไม่คุ้ม” ก็เลยเลี่ยงไปใช้วิธีอื่นแทน เช่น เปลี่ยนเพลง หรือเปลี่ยนคีย์ เหมือนคนที่เลือกจะไม่ลงทุนในบางธุรกิจ เพราะเห็นว่าไม่คุ้มกับความเสี่ยงและต้นทุนที่ต้องจ่าย แต่บางคนมองอีกมุม เขาเห็นว่า ถ้าเล่นคอร์ด F ได้เร็ว เขาจะรับจ๊อบเปิดหมวก หาเงินค่าข้าวเย็นได้ เขาก็ยอมเจ็บนิ้วทุกคืน ฝึกวันละชั่วโมง จนในที่สุดก็เล่นได้ และเริ่มมีรายได้
“ต้นทุน-ผลตอบแทน… เวอร์ชันดนตรีชัดๆ”
แล้วกลไกราคาเกี่ยวอะไรด้วย?
ในโลกเศรษฐกิจ ราคา คือสัญญาณ มันไม่ได้แค่บอกเราว่าของอะไรแพง ของอะไรถูก แต่มันคือ “ตัวบอกจังหวะ” เหมือนโน้ตในเพลง ที่ช่วยให้เราตัดสินใจได้ว่าควรทำอะไร ไม่ควรทำอะไร
• ถ้าราคาน้ำมันขึ้น → คนหันไปขี่จักรยาน
• ถ้าราคาข้าวเหนียวแพง → แม่ค้าหันไปขายข้าวสวยแทน
• ถ้ากีตาร์คลาสสิกแพง → ผมหยิบกีตาร์โปร่งเก่าๆ มาเช็ดแล้วใช้ต่ออีกปี
ไม่มีใครออกคำสั่งว่าเราต้องทำอะไร แต่ราคาเป็นเหมือนเสียงในวงดนตรี เราฟังมัน แล้วตัดสินใจว่า… ควรเปลี่ยนคอร์ด หรือควรปล่อยให้เพื่อนแบกท่อนฮุคไปก่อน ถ้าราคาโดนควบคุม… เพลงก็เพี้ยน ลองนึกภาพดูครับ ถ้ามีใครออกกฎว่า “วงดนตรีทุกวงต้องเล่นแต่คอร์ด C เพราะมันง่าย” หรือ “ห้ามเล่นคอร์ด F เด็ดขาด เพราะมันยากเกินไปสำหรับมือใหม่”
ผลลัพธ์คืออะไร?
มืออาชีพเบื่อ… เพราะไม่มีความท้าทาย
มือใหม่ก็ไม่ได้พัฒนา… เพราะไม่มีแรงผลักดัน
เพลงก็วนอยู่แต่คอร์ดเดิมๆ ซ้ำซาก ไม่มีสีสัน
----ในที่สุด วงก็เลิกเล่น คนฟังก็เบื่อ ความสร้างสรรค์ก็ตาย----
โลกของเศรษฐกิจก็เช่นกัน
ถ้ารัฐควบคุมราคาสินค้าหรือบริการจนผิดธรรมชาติ เช่น บังคับให้ขายน้ำมันในราคาถูกเกินไป ผู้ผลิตก็ไม่อยากผลิตของขาด คนต้องไปต่อคิวยาวเหยียด สุดท้ายคนที่เดือดร้อนคือ “คนฟังเพลง” ที่ไม่ได้ฟังเพลงดีๆ เพราะมีใครสักคนบังคับให้วงดนตรีเล่นแต่คอร์ดที่ไม่มีใครอยากเล่น
แล้วบิทคอยน์ล่ะ?
บิทคอยน์เป็นระบบที่ไม่มีใคร “ตั้งราคา”ไม่มีธนาคารกลาง ไม่มีรัฐ ราคาขึ้นลงล้วนมาจากอุปสงค์–อุปทานจริงๆ
คนอยากได้มาก → ราคาขึ้น
คนเริ่มเทขายเยอะ → ราคาลง
ไม่มีคนคุมวง… แต่ทุกคนรู้บทบาทของตัวเอง และ “ฟัง” สัญญาณเดียวกันคือ “ราคา” บิทคอยน์ก็เหมือนวงดนตรีที่ไม่มีคอนดักเตอร์ แต่ทุกคนรู้ว่าเมื่อไรควร “เปลี่ยนคอร์ด” หรือ “โซโล่” โดยไม่ต้องรอใครชี้นิ้ว
“สำหรับผม ในโลกของดนตรี ‘ราคา’ ก็คือเพลงที่เราเลือกจะเล่น ส่วน ‘ต้นทุน’ คือคอร์ดในเพลงนั้น — และคอร์ด F นี่แหละ… คือต้นทุนที่สูงที่สุด”
และคนที่เล่นได้ดี ไม่ใช่แค่ “เล่นเก่ง” แต่ต้อง “เข้าใจระบบ” ด้วย ในวงดนตรี ไม่มีใครสั่งคุณว่าให้จับคอร์ดไหน ในเศรษฐกิจเสรี ก็ไม่มีใครสั่งให้คุณซื้อหรือขายอะไร แต่ทุกคนจะฟังสิ่งเดียวกัน ”ราคา”แล้วใช้ข้อมูลของตัวเองในการตัดสินใจ กลไกราคาไม่ใช่สิ่งที่ต้องมีคนอธิบาย
“แค่ฟังมันให้เป็น… แล้วคุณก็จะรู้ว่า ควร “เล่น” หรือ “เงียบ” เมื่อไร”
https://image.nostr.build/61f4ade3806cc592681aa12205824e77141a1082c9513287e69abfd8133810f1.png