-
![](https://pfp.nostr.build/990240d557e90063bd57cbe61f0b3f684d695f1c158720a87cbf4ef6f0628703.jpg)
@ SunnyMoo
2024-02-02 09:07:06
ในทางเศรษฐศาสตร์มีการวิจัยมาเนิ่นนานแล้วพบว่า บุหรี่/ ยาสูบ เป็นสินค้าที่มีความยืดหยุ่นอุปสงค์ต่อราคาต่ำ นั่นคือแม้สินค้าจะมีราคาสูงขึ้นแต่ผู้บริโภคก็ยังเต็มใจจ่ายเพื่อให้ได้บุหรี่มาสูบเติมเต็มความสุข คลายเหงา คลายเศร้า สร้างภาพลักษณ์ หรือเข้าสังคม เนื่องจากบุหรี่/ ยาสูบ เป็นสินค้าที่หาสินค้าอื่นมาทดแทนได้ยาก
## วิธีแก้ปัญหาสินค้าที่ทดแทนได้ยาก
การแก้ปัญหาสินค้าที่ทดแทนได้ยาก มีสองแนวทาง โดยสามารถแก้ได้จากทางด้านความต้องการสูบ (ด้านอุปสงค์ : Demand) และทางด้านต้นทุนการผลิต (ด้านอุปทาน : Supply)
โดยวิธีทำลายธุรกิจบุหรี่/ ยาสูบ มีอยู่ 2 วิธีใหญ่ ๆ นั่นคือ
1. การสร้างความตระหนักรู้ว่าการสูบบุหรี่มีอันตรายต่อชีวิตตนเองและคนที่เรารักอย่างไร หรือการหาทางประดิษฐ์คิดค้นสิ่งที่ให้ความพึงพอใจในการบริโภคเหมือนการสูบบุหรี่แต่ไม่เกิดผลเสียต่อผู้สูบและสังคม
2. การขึ้นอัตราภาษีแบบก้าวกระโดดอย่างฉับพลัน (High Shock Taxes Policy) โดยให้มีผลบังคับใช้ในทันที
การค้นหาสิ่งมาแทนคงยาก และการกล่อมเกลาจิตใจคนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลาในการปลูกฝังความรู้ที่ถูกต้อง ดังนั้นวิถีทางที่ง่ายที่สุด แต่ก็ต้องขึ้นกับจิตสำนึกของรัฐบาลว่าจะห่วงใยสังคม หรือสนใจแต่ผลประโยชน์ของโรงงานยาสูบแห่งประเทศไทย
(ซึ่งข้อเสนอของผู้เขียนประยุกต์มาจากงานวิจัย เรื่อง A Theory of Rational Addiction ของ Gary Becker & Kevin Murphy ซึ่งตีพิมพ์ใน Journal of Political Economy ฉบับที่ 96 เดือนสิงหาคม ปี ค.ศ. 1988)
++นั่นคือ การประกาศขึ้นอัตราภาษีแบบสูงมาก ๆ แบบปรับอัตราภาษีแล้วทำให้ราคาบุหรี่เพิ่มขึ้นทันที 10 เท่า 100 เท่า อย่างฉับพลัน นั่นเอง++
โดยการขึ้นอัตราภาษีแบบก้าวกระโดดอย่างฉับพลัน จะทำให้เกิดการหักดิบของนักสูบ เพราะไม่มีเงินไปซื้อบุหรี่มาสูบ หรือไม่ก็เอาเงินไปซื้อบุหรี่มาสูบ จนไม่มีเงินไปซื้ออาหารทำให้เกิดภาวะทุพโภชนาการจนหมดอายุขัยไปเอง
การปรับขึ้นภาษีในอดีตที่ผ่านมาทุกประเทศล้วนใช้วิธีการแบบค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป เพื่อรีดเลือดจากเหล่าผู้ชื่นชอบควัน หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “ภาษีบาป” นั่นเอง โดยรัฐต่าง ๆ ล้วนอ้างว่าเก็บภาษีเหล่านี้เพื่อไปสร้างประโยชน์ให้ด้านอื่นของสังคม แต่มันจะดีกว่าหรือไม่ ถ้าไม่มีธุรกิจบุหรี่/ ยาสูบ ที่คอยทำลายสุขภาพประชาชน และเป็นต้นเหตุให้เกิดปัญหาค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขที่บานปลาย เพื่อรักษาโรคร้ายแรงต่าง ๆ ที่เกิดจากการสูบบุหรี่ อย่างเช่นทุกวันนี้
### ทำไมมาตรการขึ้นอัตราภาษีแบบก้าวกระโดด อาจไม่ช่วยจำนวนผู้สูบ
จากข่าว [โรงงานยาสูบค้านการขึ้นภาษีบุหรี่แบบอัตราเดียว](https://www.thansettakij.com/business/economy/587463) เพราะเกรงว่าจะไม่ได้ทำให้จำนวนผู้สูบลดลง
การใช้มาตรการด้านอุปทาน อย่างการขึ้นอัตราภาษีสินค้าในประเทศ จะทำให้ราคาสินค้าในตลาดเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการบางรายหาสินค้าหนีภาษีมาจำหน่ายให้ผู้บริโภคในประเทศ
ด้วยเหตุนี้ หากภาครัฐไม่มีมาตรการควบคุมสินค้าหนีภาษีที่เข้มข้น เมื่อมีการขึ้นอัตราภาษีบุหรี่ในประเทศ ก็จะเกิดการลักลอบนำเข้าบุหรี่จากประเทศใกล้เคียงที่มีอัตราภาษีน้อยกว่าเข้ามาขายให้ผู้สูบชาวไทย จึงทำให้ภาครัฐสูญเสียจำนวนภาษีที่ควรจะได้จากภาษีรายได้ของผู้ประกอบการ และภาษีสรรพสามิตของการขายบุหรี่ อีกทั้งจำนวนผู้สูบก็ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขยังคงสูงเช่นเดิม