-

@ Journaling Our Journey
2025-05-04 06:15:18
https://image.nostr.build/2776739b372a240ed978fd3be74d0937c0d714518327ec092d9f26c5d860a2a1.jpg
Elton John (นักร้องชื่อดัง) บอกว่าการกล่าวคำขอโทษไม่ใช่เรื่องง่าย
.
อย่างไรก็ตาม Amanda Ann Gregory (นักจิตวิทยาผู้เขียนหนังสือ You Don’t Need to Forgive) นำเสนอว่า สิ่งที่ยากยิ่งกว่าการกล่าวคำขอโทษคือการกล่าวขอโทษให้ “มีคุณภาพ”
.
เพราะถ้าคำขอโทษของเรา “ไม่มีคุณภาพ” (เช่น กล่าวคำขอโทษแบบส่งๆ) แทนที่การกล่าวคำขอโทษจะช่วย “ซ่อมแซม” ความสัมพันธ์ที่สึกหรอให้เริ่มต้นฟื้นคืนกลับได้ มันอาจจะยิ่งสร้างรอยร้าวในความสัมพันธ์เพิ่มเติมได้
.
แต่ทีนี้ คำขอโทษที่ “ไม่มีคุณภาพ” นั้น มันมีรูปร่างหน้าตาอย่างไรบ้าง? Gregory มีคำตอบให้ดังต่อไปนี้ครับ
.
.
.
# 1 ไม่ระบุให้ละเอียดและชัดเจนว่าเรากำลังขอโทษในเรื่องอะไร
.
ยกตัวอย่างเช่น
.
ถ้าเราพูดเพียงแค่ “ฉันขอโทษนะ” อีกฝ่ายอาจจะไม่รู้ว่าเรากำลังขอโทษเรื่องอะไรอยู่ หรืออาจจะไม่สามารถสัมผัสได้ว่าเราจริงใจกับคำขอโทษของเรา
.
แต่ถ้าเราพูดว่า “ฉันสัญญาว่าจะมาเจอเธอตอนเที่ยงวันนี้ แต่ฉันมาสายเป็นชั่วโมง ฉันขอโทษจริงๆนะ” นอกจากอีกฝ่ายจะรับรู้ว่าเรากำลังขอโทษเรื่องอะไรแล้ว อีกฝ่ายจะยังมีแนวโน้มที่จะสัมผัสถึงความจริงใจของเราได้ในคำขอโทษอีกด้วย
.
เป็นต้น
.
# 2 มีการบ่ายเบี่ยงความรับผิดชอบ
.
การบ่ายเบี่ยงความรับผิดชอบที่ว่านี้ก็เช่น “ฉันขอโทษนะที่มาสาย แต่ถ้าเธอส่งข้อความมาเตือนฉันอย่างที่เราตกลงกันไว้ตั้งแต่แรก ฉันก็คงออกเดินทางเร็วกว่านี้ และก็คงไม่สายแบบนี้หรอกนะ”
.
จากตัวอย่างในข้างต้น แม้ว่าอีกฝ่ายอาจจะ “บกพร่อง” ในส่วนของเขาจริงๆ (เช่น ลืมส่งข้อความมาเตือนตามที่ได้ตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้) แต่นั่นคือส่วนที่เราไม่ควรหยิบมาปนเวลาที่เรากำลังกล่าวคำขอโทษ เพราะมันอาจจะทำให้อีกฝ่ายมองว่าเราไม่ยอมที่จะ “ยืดอกรับความผิด” ระหว่างที่กำลังขอโทษ (ซึ่งอาจส่งผลให้ความขัดแย้งทวีความรุนแรงมากขึ้น แทนที่จะลดความรุนแรงลง)
.
หากเราต้องการที่จะพูดคุยในส่วนที่อีกฝ่าย “บกพร่อง” จริงๆ เราน่าจะหยิบมาพูดคุยหลังจากที่เรากล่าวคำขอโทษเสร็จแล้วมากกว่าครับ
.
# 3 มีการพูดแก้ต่างให้ตัวเอง
.
ยกตัวอย่างเช่น “ฉันขอโทษนะที่มาสาย ช่วงนี้ฉันงานยุ่งมากๆเลย แถมโรคภูมิแพ้ของฉันก็มากำเริบหนักหลังๆนี้ด้วย มันเลยทำให้ฉันมาสายน่ะ ฉันหวังว่าเธอจะเข้าใจฉันในจุดนี้นะ” เป็นต้น
.
จริงๆแล้ว การพูดแก้ต่างให้ตัวเองหรือการพูดอธิบายให้อีกฝ่ายเข้าใจสถานการณ์ในชีวิตของเรา มันไม่ใช่สิ่งที่ผิดหรือไม่เหมาะสมด้วยตัวมันเองเสียทีเดียวนะครับ
.
แต่ถ้าจะให้ดี เราควรทำสิ่งเหล่านี้หลังจากที่เรากล่าวคำขอโทษไปเรียบร้อยแล้วดีกว่าครับ ไม่เช่นนั้น อีกฝ่ายก็มีแนวโน้มที่จะมองว่าเราไม่ยอม “ยืดอกรับความผิด” ซึ่งอาจส่งผลให้ความขัดแย้งทวีความรุนแรงมากขึ้น แทนที่จะลดความรุนแรงลงครับ (เหมือนอย่างกรณีข้อ # 2 ในข้างต้น)
.
# 4 ไม่มีการแสดงออกว่าเรานึกถึงใจเขา
.
ระหว่างการพูดว่า “ฉันสัญญาว่าจะมาเจอเธอตอนเที่ยงวันนี้ แต่ฉันมาสายเป็นชั่วโมง ฉันขอโทษจริงๆนะ” กับการพูดว่า “ฉันสัญญาว่าจะมาเจอเธอตอนเที่ยงวันนี้ แต่ฉันมาสายเป็นชั่วโมง เธอคงจะผิดหวังและหงุดหงิดกับฉันในจุดนี้ไม่น้อยเลย ฉันขอโทษจริงๆนะ”
.
การพูดขอโทษแบบกรณีหลังเป็นการแสดงให้อีกฝ่ายรู้ว่า เรามีความเข้าใจดีว่าการกระทำของเรามันส่งผลกระทบแย่ๆกับเขาอย่างไรบ้าง
.
การพูดขอโทษแบบกรณีหลังแสดงให้อีกฝ่ายเห็นถึงความ “ใจเขาใจเรา” รวมถึงความอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งท่าทีเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะทำให้อีกฝ่ายเปิดใจหรือใจอ่อนกับเรามากขึ้นได้
.
# 5 มีการคาดคั้นหรือหว่านล้อมให้อีกฝ่ายให้อภัย
.
ยกตัวอย่างเช่น การพูดว่า “เธอต้องให้อภัยฉันนะ” “เธอมองข้ามเรื่องนี้ไปเถอะนะ เธอจะได้สบายใจด้วยไง” เป็นต้น
.
เวลาที่เราพูดขอโทษใครสักคนและเราใช้คำพูด “บีบ” ให้เขาให้อภัยเรานั้น มันทำให้การขอโทษครั้งนี้ดูเป็นเรื่องที่ “เห็นแก่เรา” มากกว่า “เห็นแก่เขา” (ซึ่งมันก็มีแนวโน้มที่จะทำให้อีกฝ่ายยิ่งรู้สึกไม่พอใจและไม่อยากให้อภัยเข้าไปใหญ่)
.
.
.
ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สิ่งที่ผมได้หยิบมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้ จะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านในวันหน้าที่ท่านผู้อ่านกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องการจะกล่าวคำขอโทษกับใครสักคนนะครับ
#จิตวิทยา #siamstr