-
@ Libertarian Studies
2023-09-30 03:25:03วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งในปี ค.ศ. 1997 หรือ “Asian Financial Market of 1997” ถือเป็นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศไทย การทำความเข้าใจกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ครั้งนี้ของประเทศไทยและบางประเทศในเอเชีย อย่างเช่น สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้), อินโดนีเซีย และ มาเลเซีย เพื่อยอมรับมันว่าเป็นความผิดพลาดของนโยบายเสรีนิยมใหม่จึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การเปิดตลาดให้เสรีในช่วงปลายทศวรรษที่ 80s ของโดยรัฐบาลไทยถือว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจประเทศต้องพังทลายลงมาพร้อมกับวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ในบทความนี้ทางเราเสนอว่าการเปิดตลาดให้เสรีโดยที่ไม่มีความพร้อมทางด้านโครงสร้าง, การที่รัฐ “บังคับ” ให้มีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ และการปล่อยให้ทุกคนในตลาดเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมถือเป็นข้อผิดพลาดที่นำไปสู่วัฏจักรการเติบโตของเศรษฐกิจและการพังของเศรษฐกิจแบบเรื้อรัง (boom and bust cycle) ตามที่อธิบายโดยสำนักเศรษฐศาสตร์สายออสเตรียน (Austrian School of Economics) การพัฒนาการและเปลี่ยนผ่านของฐานของเศรษฐกิจไทยจากเกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรมระดับสูงคือหนึ่งในผลลัพธ์ของการทำนโยบายที่รัฐบาลไทยบังคับให้เปิดตลาดให้เสรีเพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจแต่ถึงอย่างไรก็ตามมันก็มาพร้อมด้วยกับปัญหาอื่น ๆ ที่ตามมาดังที่เราจะเสนอในบทความนี้ ทั้งนี้ผู้เขียนให้ความสำคัญกับแนวคิดที่ว่า “การกระทำทุกอย่างที่ทำโดยรัฐต้องมาด้วยการแลก” (trade-offs) ถึงแม้การกระทำดังกล่าวจะสร้างผลลัพธ์ที่เรียกว่า “เสรีภาพ” ก็ตามมันก็ถือว่าเป็น “เสรีภาพโดยรัฐ” ที่นำมาสู่หายนะ
สาเหตุของวิกฤตต้มยำกุ้ง
ในประเด็นนี้คนไทยควรตั้งคำถามเกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งว่า “ทำไมระบบตลาดเสรีแบบตะวันตก” และ “การสนับสนุนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและการขยายปริมาณเงินในระบบผ่านการกู้หรือนโยบายการแทรกแซงทางการเงินอื่น ๆ” ถึงไม่มีความเหมาะสมหรือสร้างความสำเร็จได้ในระยะยาวได้อย่างตลอดภายในประเทศไทยหรือประเทศอื่นเอเชียเลย? ถ้าย้อนกลับไปดูการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศไทยเมื่อรัฐบาลบังคับให้เปิดตลาดในช่วงปลายทศวรรษที่ 80s และ ต้นทศวรรษที่ 90s จะเห็นได้ชัดว่าผลลัพธ์และความสำเร็จที่เกิดส่วนใหญ่นั้นเกิดจากปฏิกิริยาและจากการกระทำของภาคเอกชนเสียส่วนใหญ่ จะเห็นได้ชัดดังนี้ที่ว่า “ระดับการออมรวมของประเทศ” หรือ Gross Domestic Savings (GDS) เพิ่มจาก 17% เป็น 30% ของ ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (Gross National Product, GNP) ในขณะที่ภาคส่วนของเกษตรกรรมที่เคยเป็นฐานหลักของประเทศจาก 27% ของจีดีพีในปี ค.ศ. 1980 ลดลงเป็น 11.8% ของจีดีพีในปี 1993 ส่วนอัตราการเติบโตของมูลค่าเพิ่มการผลิต (Manufacturing Added Value, MAV) เพิ่มจาก 21.7% เป็น 31.1% ของจีดีพี ระดับความยากจนลดลงอย่างรวดเร็วและอัตราการมีชีวิตอยู่เพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน ภาคส่วนการบริการกลายเป็นฐานหลักสำคัญของเศรษฐกิจประเทศส่วนภาคส่วนเกษตรกรรมถูกลดทอนบทบาทอย่างชัดเจนจนกลายเป็นเพียงแค่ฐานสำรอง (Sundaram, et al 1997) รูปแบบการพัฒนาการทางเศรษฐกิจแบบหลักเปลี่ยนผ่านจากการ “เน้นการส่งออกเพื่อโต” มาเป็น “เน้นการบริการเพื่อโต” ถึงแม้ว่ารัฐบาลไทยจะเปลี่ยนความสำคัญจากเกษตรกรรมมาเป็นการส่งออกและการบริการผ่านการสนับสนุนให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมระดับสูง (Baker and Phongpaichit 2014)
เนื่องด้วยจากการที่เศรษฐกิจไทยในช่วงก่อนวิกฤตต้มยำกุ้งจะเกิดรัฐบาลไทยมีนโยบายการแทรกแซงเศรษฐกิจอยู่หลัก ๆ อยู่สองรูปแบบ คือ (a) การควบคุมค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพโดยธนาคารแห่งชาติ (Bank of Thailand, BOT) เพื่อสนับสนุนการส่งออกอย่างแข็งแรง และ (b) การควบคุมสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจมวลรวมให้มีเสถียรภาพผ่านนโยบายของรัฐบาลเพื่อทำให้ตลาดประเทศไทยเป็นที่น่าจับตามองของต่างชาติ จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่านโยบายการแทรกแซงทางเศรษฐกิจของประเทศไทยนั้นที่เน้นการควบคุมการเงินและเศรษฐกิจมหภาคแตกต่างจากนโยบายของประเทศเกาหลีใต้ที่เน้นนโยบายอุตสาหกรรม (industrial policies) เสียส่วนใหญ่ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับคำสอนของปรัชญาเศรษฐกิจของสำนักชิคาโก (Chicago School of Economics) ที่สนับสนุนการควบคุมการเงิน (monetarism) มากกว่าให้รัฐเข้าไปมีบทบาทโดยตรง (Dixon 1998) แต่ถึงอย่างไรก็ตามนโยบายทางการเงินและควบคุมเชิงมหภาคเช่นนี้ส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจประเทศในระยะยาว และมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจประเทศไหนก็ได้ไม่จำกัดแค่ประเทศในเอเชียถ้าใช้นโยบายเช่นนี้ ยกตัวอย่างเช่น วิกฤตเศรษฐกิจในประเทศสหรัฐอเมริกาในยุค 80s ตอนปลาย และ 90s ตอนต้น นอกเหนือจากนั้นการทำให้เกิดความ “เสรี” ตามรูปแบบที่ “กองทุนการเงินระหว่างประเทศ” (“International Monetary Fund”, “IMF”) และ องค์ทางเศรษฐกิจและการเงินต่างประเทศได้วางเอาไว้หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถือว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดการรวมตัวของเศรษฐกิจของทั้งโลกให้เป็นหนึ่งเดียวโดยที่ไม่มีความเสถียรภาพ (Saving 1998) การที่รัฐบาลไทยบังคับให้มีการเปิดของการไหลเข้าออกของทุนได้อย่างเสรีในช่วงปี ค.ศ. 1990 ถึง 1993 นั้นเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดที่ทำให้วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งเกิดขึ้น มันปฏิเสธไม่ได้ว่าการไหลเข้ามาของทุนนั้นเกิดขึ้นมาจากการที่องค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ และ ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกากับญี่ปุ่นมองเห็นโอกาสในการ “ลงทุน” ในขนาดใหญ่ภายในประเทศที่ “ตลาดกำลังโต” (emerging markets) เป็นผลพวงเปิดทางให้กับการขยายเครดิตและการกู้เข้ามาในประเทศจากบริษัทต่างประเทศ ในขณะที่บางทุนที่เข้ามาในประเทศก็ไหลเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (The Stock Exchange of Thailand, SET) ซึ่งการไหลเข้ามาของทุนเป็นจำนวนมากเช่นนี้มักจะทำให้เกิดปัญหากับนโยบายการตรึงราคาค่าเงินบาทไทยกับค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ของรัฐบาลไทยเพื่อสนับสนุนการส่งออก (Baker and Phongpaichit 2000)
ผลกระทบของวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง
ผลกระทบที่ตามมาของการให้ทุนไหลมาเข้าอย่างเสรีและการที่มันแทบจะมีสิทธิในการควบคุมทิศทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นคือการที่ค่าเงินบาทถูกตีมูลค่าให้มากเกินไป มากไปกว่านั้นมันเป็นการแทรกแซงของรัฐที่ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยแต่มีส่วนร่วมโดยรัฐบาลจากต่างประเทศที่เป็นชาติมหาอำนาจ การไหลของทุนดังกล่าวมักเกิดจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve System, FED) สนับสนุนนโยบายเพิ่มเงินเข้าระบบแต่เงินดังกล่าว “กลับไม่ไปอยู่ในมือของผู้บริภาคชาวอเมริกาแต่กลับไปอยู่ในมือของ (1) บริษัทอเมริกันที่ต้องการลงทุนในประเทศอื่น (2) บริษัททางการเงินอเมริกันที่ต้องการให้บริษัทประเทศอื่นกู้ยืม และ (3) ถูกใช้จ่ายกับสิ่งค้านำเข้าโดยชาวอเมริกันหรือการสะสมเงินดอลล่าร์ฯ สำรองโดยธนาคารกลางประเทศอื่น” โดยทุนเหล่านี้ที่เข้ามาในทวีปเอเชียโดยเฉพาะในประเทศที่ “กำลังพัฒนา” จากบริษัทอเมริกันสูงถึง 243.8 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ นี่ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่การตรึงค่าเงินบาทไทยกับค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ไม่สามารถนำมาซึ่งความเสถียรภาพต่อเศรษฐกิจได้โดยตลอดไปเพราะว่าการหลีกเลี่ยงสภาวะเงินเฟ้อโดยการเอาทุนทั้งหมดไปวางไว้กับเงินดอลล่าร์ที่ไหลเข้ามาไม่สามารถทำได้ กล่าวก็คือคุณไม่สามารถที่จะ “ส่งออกสภาวะเงินเฟ้อด้วยการใช้ทุนต่างประเทศที่ไหลเข้ามาเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้ตลอดไป” (Herbener 1998) บวกกับหนี้ที่เพิ่มขึ้นจากให้กู้ที่ไหลเข้ามาและค่าเงินบาทที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อมูลค่าค่าเงินบาทมากเกินไปนั้นก็ส่งผลทำให้การส่งออกเริ่มที่จะหดตัวลง ในทางตรงกันข้ามกันการไหลเข้ามาของทุนจำนวนมากและการเพิ่มขึ้นของค่าเงินบาทส่งผลทำให้อัตราการบริโภคโดยรวมเพิ่มสูงมากขึ้น เมื่อการที่รัฐบาลแทรกแซงเพื่อสร้างความเสี่ยงให้กับตลาดมากขึ้นสัญญาณเตือนฟองสบู่ก็เริ่มจากตลาดอสังหาฯ ที่พองตัวขึ้นเรื่อย ๆ จากการที่ปริมาณมีมากกว่าความต้องการในตลาด จนกระทั่งธนาคารแห่งชาติจำเป็นที่จะต้องใช้เงินดอลล่าร์สำรองซื้อเงินบาทเพื่อรักษาอัตราการแลกเปลี่ยนเอาไว้และป้องกันกองพองตัวของฟองสบู่ให้มากขึ้นกว่าเดิมในตลาด
นักเก็งกำไร “เห็นโอกาสที่ดีที่ลงตัวเช่นนี้” จึงพากันโจมตีค่าเงินบาทแล้วแห่กันถอนทุนออกจากประเทศไทย ซึ่งสุดท้ายก็ไม่สามารถหยุดกลไกตลาดแบบเทียมที่รัฐบาลและ “การเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโลก” (“globalization”) สร้างขึ้นมาได้เมื่อเศรษฐกิจไทยพังพินาศลงมาในต้นปี ค.ศ. 1997 ซึ่งเป็นผลทำให้ตลาดหุ้นและตลาดอสังหาพังทลายเพียงแค่พริบตา รัฐบาลไทยประกาศ “ลอยตัว” (“floating”) อัตราการแลกเปลี่ยนในวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1997 เพราะเงินสำรองดอลล่าร์หมดไปจากคลัง รัฐบาลสหรัฐฯ และ กองทุนการเงินระหว่างประเทศจึงบังคับให้รัฐบาลไทยเปิดเผยข้อมูลเงินสำรองและสภาวะการกู้ยืมทั้งหมดภายในประเทศ ค่าเงินบาทอ่อนลงถึง 20% เพียงแค่หนึ่งเดือน ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือ (a) ตลาดอสังหาฯ ที่พังทลายลงอย่างรุนแรงจนเราได้เห็นโครงการต่าง ๆ ที่สร้างในสมัยนั้นหยุดชะงักแล้วกลายเป็น “อนุเสาวรีย์” ที่ย้ำเตือนมาโดยตลอด เช่น ตึกสาธร ซึ่งเป็นผลทำให้รัฐบาลไทยออกกฏหมายปฏิเสธการให้สิทธิในทรัพย์สินสำหรับชาวต่างชาติในเวลาต่อมา (b) สภาพคล่องของบริษัทต่าง ๆ ภายในประเทศหายเกลี้ยงและไม่สามารถที่จะจ่ายหนี้ได้อีกต่อไปเป็นผลทำให้เกิดการล้มละลาย (bankruptcy) เป็นจำนวนมากและพนักงานบริษัทจำนวนมากก็ตกงานเนื่องจากบริษัทไม่มีกำลังพอที่จะจ้างอีกต่อไป (c) ค่าเงินบาทอ่อนตัวถึงขีดสุดที่ 56 บาท ต่อ 1 ดอลล่าห์สหรัฐ ซึ่งเป็นผลทำให้ประเทศไม่สามารถที่จะพึ่งพานโยบายเน้นการส่งออกได้อีกต่อไป สามปัญหานี้คือผลพวงจาก “วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง” (Hays 2014) และมันจะไม่สามารถแก้ไขได้ง่ายจนถึงยุคของ นายก ทักษิณ ชินวัตร...
บรรณานุกรม
Baker, Chris and Pasuk Phongpaichit. A History of Thailand. United Kingdom: Cambridge University Press. June 23, 2014.
Baker, Chris and Pasuk Phongpaichit. Thailand’s Crisis. Chiang Mai, Thailand: Silkworm Books. October 1, 2000.
Dixon, Chris. The Thai Economy. United Kingdom: Routledge. December 3, 1998.
Hays, Jeff. “Economic History of Thailand: Post-War Boom and The Thaksin and Post-Thaksin Years”. Tokyo, Japan: Facts and Details. May 2014.
Herbener, Jeffrey M. “Bailout Mania”. Auburn, AL: Mises Institute. January 1, 1998.
Saving, Thomas R, et al. “Thailand's Exchange-Rate Crisis: Relationships to East Asia and The Global Economy”. United Kingdom: Oxford University Press. 1998.
Sundaram, Jomo K., et al. Southeast Asia's Misunderstood Miracle: Industrial Policy and Economic Development in Thailand, Malaysia and Indonesia. Boulder, CO: Westview Press. July 1, 1997.