-
![](https://pfp.nostr.build/990240d557e90063bd57cbe61f0b3f684d695f1c158720a87cbf4ef6f0628703.jpg)
@ SunnyMoo
2024-01-27 05:50:22
ทุกสิ่งในโลกล้วนมีทั้งด้านความต้องการบริโภค (อุปสงค์) และด้านความต้องการผลิต (อุปทาน) อยู่เสมอ การแก้ปัญหาที่ต้องการให้เลิกบริโภคอย่างยั่งยืนต้องไปแก้ที่ต้นเหตุ นั่นคือ ต้องลดความต้องการบริโภคสินค้าลงให้ได้ ไม่ใช่การขยันออกกฎหมายมาห้ามนู้นนี่นั่นไปเรื่อยเปื่อย
หากเราขยันออกกฎหมายมาห้าม ก็ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดทุกกรณี เช่น การห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ซื้อเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ก็ต้องทำให้เข้มงวด รัดกุม ไม่ใช่ปล่อยให้มีร้านขายของชำบางร้าน แอบขายให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 20 ปี เป็นต้น
การแก้ปัญหาความต้องการบริโภคสินค้าเสพติดแบบยั่งยืนต้องแก้ที่ด้านอุปสงค์ ซึ่งเครื่องมือของรัฐที่มีไว้ใช้ในการลดจำนวนนักดื่มคือ การให้ความรู้ หรือ การเก็บภาษี ซึ่งมาตรการให้ความรู้ที่ถูกต้องมันยุ่งยากและใช้เวลาในการดำเนินนโยบายมากกว่ามาตรการเก็บภาษี
หากจะใช้มาตรการเก็บภาษีเพื่อแก้ปัญหาที่มาจากด้านอุปสงค์ ก็ต้องเก็บภาษีแบบเซอร์ไพร์ส คือประกาศขึ้นอัตราภาษีเหล้าเบียร์แบบสูงลิบลิ่วและไม่ทันได้ตั้งตัว ซึ่งอย่างเหล้าเบียร์เนี่ย มันเป็นสินค้าทดแทนได้ยาก เพราะมันเป็นเครื่องดื่มที่เสพแล้วติด จึงต้องเก็บภาษีให้สูงมาก ๆ เพื่อลดจำนวนนักดื่มลงมา
หรือไม่รัฐบาลก็ต้องให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องถึงผลเสียที่ตามมาจากการดื่มเหล้าเบียร์ที่มากเกินไป หรือหาสินค้าทดแทนอื่น ๆ ที่สร้างความมึนเมา และสนุกสนานในวงสนทนา ที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพน้อยกว่า มาให้ประชาชนได้บริโภคแทนเหล้าเบียร์ นั่นเอง
มิเช่นนั้น มาตรการภาษีที่ใช้ไป ก็เป็นแค่เพียงเครื่องมือในการสร้างรายได้ให้ภาครัฐเอาไปถลุงในเรื่องต่าง ๆ ที่อาจไม่เกิดประโยชน์แท้จริงต่อส่วนรวม ไม่ได้ทำให้ปัญหาที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป หายไปจากสังคมนั้นอย่างถาวร