-
@ Just So Be It
2024-07-29 03:25:50ถ้าอยากแล้วไม่หลง มันก็อยากด้วยปัญญา ความอยากอย่างนี้ท่านเรียกว่า เป็นบารมีของตน แต่ไม่ใช่ทุกคนนะที่มีปัญญา
บางคนไม่อยากจะให้มันอยาก เพราะเข้าใจว่า การมาปฏิบัติก็เพื่อระงับความอยาก ความจริงน่ะ ถ้าหากว่าไม่มีความอยาก ก็ไม่มีข้อปฏิบัติ ไม่รู้ว่าจะทำอะไร ลองพิจารณาดูก็ได้
ทุกคน แม้องค์พระพุทธเจ้าของเราก็ตาม ที่ท่านออกมาปฏิบัติ ก็เพื่อจะให้บรรเทากิเลสทั้งหลายนั้น
แต่ว่ามันต้องอยากทำ อยากปฏิบัติ อยากให้มันสงบ และก็ไม่อยากให้มันวุ่นวาย ทั้งสองอย่างนี้ มันเป็นอุปสรรคทั้งนั้น ถ้าเราไม่มีปัญญา ไม่มีความฉลาดในการกระทำอย่างนั้น เพราะว่ามันปนกันอยู่ อยากทั้งสองอย่างนี้มันมีราคาเท่า ๆ กัน
อยากจะพ้นทุกข์มันเป็นกิเลส สำหรับคนไม่มีปัญญา อยากด้วยความโง่ ไม่อยากมันก็เป็นกิเลส เพราะไม่อยากอันนั้นมันประกอบด้วยความโง่เหมือนกัน คือทั้งอยาก ไม่อยาก ปัญญาก็ไม่มี ทั้งสองอย่างนี้ มันเป็นกามสุขัลลิกานุโยโค กับอัตตกิลมถานุโยโค ซึ่งพระพุทธองค์ของเรา ขณะที่พระองค์กำลังทรงปฏิบัติอยู่นั้น ท่านก็หลงใหลในอย่างนี้ ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ท่านหาอุบายหลายประการ กว่าจะพบของสองสิ่งนี้
ทุกวันนี้เราทั้งหลายก็เหมือนกัน ทุกสิ่งทั้งสองอย่างนี้มันกวนอยู่ เราจึงเข้าสู่ทางไม่ได้ก็เพราะอันนี้ ความเป็นจริงนี้ทุกคนที่มาปฏิบัติ ก็เป็นปุถุชนมาทั้งนั้น ปุถุชนก็เต็มไปด้วยความอยาก ความอยากที่ไม่มีปัญญา อยากด้วยความหลง ไม่อยากมันก็มีโทษเหมือนกัน “ไม่อยาก” มันก็เป็นตัณหา “อยาก” มันก็เป็นตัณหาอีกเหมือนกัน
ทีนี้ นักปฏิบัติยังไม่รู้เรื่องว่า จะเอายังไงกัน เดินไปข้างหน้าก็ไม่ถูก เดินกลับไปข้างหลังก็ไม่ถูก จะหยุดก็หยุดไม่ได้เพราะมันยังอยากอยู่ มันยังหลงอยู่ มีแต่ความอยาก แต่ปัญญาไม่มี มันอยากด้วยความหลง มันก็เป็นตัณหา ถึงแม้ไม่อยาก มันก็เป็นความหลง มันก็เป็นตัณหาเหมือนกันเพราะอะไร? เพราะมันขาดปัญญา
ความเป็นจริงนั้น ธรรมะมันอยู่ตรงนั้นแหละ ตรงความอยากกับความไม่อยากนั่นแหละ แต่เราไม่มีปัญญา ก็พยายามไม่ให้อยากบ้าง เดี๋ยวก็อยากบ้าง อยากให้เป็นอย่างนั้น ไม่อยากให้เป็นอย่างนี้ ความจริงทั้งสองอย่างนี้ หรือทั้งคู่นี้มันตัวเดียวกันทั้งนั้น ไม่ใช่คนละตัว แต่เราไม่รู้เรื่องของมัน
พระพุทธเจ้าของเรา และสาวกทั้งหลายของพระองค์นั้นท่านก็อยากเหมือนกัน แต่ “อยาก” ของท่านนั้น เป็นเพียงอาการของจิตเฉย ๆ หรือ “ไม่อยาก” ของท่าน ก็เป็นเพียงอาการของจิตเฉย ๆ อีกเหมือนกัน มันวูบเดียวเท่านั้น ก็หายไปแล้ว
ดังนั้น ความอยากหรือไม่อยากนี้ มันมีอยู่ตลอดเวลาแต่สำหรับผู้มีปัญญานั้น “อยาก” ก็ไม่มีอุปาทาน “ไม่อยาก” ก็ไม่มีอุปาทาน เป็น “สักแต่ว่า” อยากหรือไม่อยากเท่านั้น ถ้าพูดตามความจริงแล้ว มันก็เป็นแต่ "อาการของจิต" อาการของจิตมันเป็นของมันอย่างนั้นเอง ถ้าเรามาตะครุบมันอยู่ใกล้ ๆ นี่มันก็เห็นชัด
ดังนั้นจึงว่า การพิจารณานั้น ไม่ใช่รู้ไปที่อื่น มันรู้ตรงนี้แหละ เหมือนชาวประมงที่ออกไปทอดแหนั่นแหละ ทอดแหออกไปถูกปลาตัวใหญ่ เจ้าของผู้ทอดแหจะคิดอย่างไร? ก็กลัว กลัวปลาจะออกจากแหไปเสีย เมื่อเป็นเช่นนั้น ใจมันก็ดิ้นรนขึ้นระวังมาก บังคับมาก ตะครุบไปตะครุบมาอยู่นั่นแหละ ประเดี๋ยวปลามันก็ออกจากแหไปเสีย เพราะไปตะครุบมันแรงเกินไป
อย่างนั้นโบราณท่านพูดถึงเรื่องอันนี้ ท่านว่าค่อย ๆ ทำมัน แต่อย่าไปห่างจากมัน นี่คือปฏิปทาของเรา ค่อย ๆ คลำมันไปเรื่อย ๆ อย่างนั้นแหละ
อย่าปล่อยมัน หรือไม่อยากรู้มัน ต้องรู้ ต้องรู้เรื่องของมัน พยายามทำมันไปเรื่อย ๆ ให้เป็นปฏิปทา ขี้เกียจเราก็ทำไม่ขี้เกียจเราก็ทำ เรียกว่าการทำการปฏิบัติ ต้องทำไปเรื่อยๆอย่างนี้
ถ้าหากว่าเราขยัน ขยันเพราะความเชื่อ มันมีศรัทธาแต่ปัญญาไม่มี ถ้าเป็นอย่างนี้ ขยันไป ๆ แล้วมันก็ไม่เกิดผลอะไรขึ้นมากมาย ขยันไปนาน ๆ เข้า แต่มันไม่ถูกทาง มันก็ไม่สงบระงับ ทีนี้ก็จะเกิดความคิดว่า เรานี้บุญน้อยหรือวาสนาน้อย หรือคิดไปว่ามนุษย์ในโลกนี้คงทำไม่ได้หรอก แล้วก็เลยหยุดเลิกทำเลิกปฏิบัติ
ถ้าเกิดความคิดอย่างนี้เมื่อใด ขอให้ระวังให้มาก ให้มีขันติ ความอดทน ให้ทำไปเรื่อย ๆ เหมือนกับเราจับปลาตัวใหญ่ ก็ให้ค่อย ๆ คลำมันไปเรื่อย ๆ ปลามันก็จะไม่ดิ้นแรงค่อย ๆทำไปเรื่อย ๆ ไม่หยุด ไม่ช้าปลาก็จะหมดกำลัง มันก็จับง่าย จับให้ถนัดมือเลย ถ้าเรารีบจนเกินไป ปลามันก็จะหนีดิ้นออกจากแหเท่านั้น
ดังนั้น การปฏิบัตินี้ ถ้าเราพิจารณาตามพื้นเหตุของเรา เช่นว่า เราไม่มีความรู้ในปริยัติ ไม่มีความรู้ในอะไรอื่น ที่จะให้การปฏิบัติมันเกิดผลขึ้น ก็ดูความรู้ที่เป็นพื้นเพเดิมของเรานั่นแหละอันนั้นก็คือ “ธรรมชาติของจิต” นี่เอง มันมีของมันอยู่แล้ว เราจะไปเรียนรู้มัน มันก็มีอยู่ หรือเราจะไม่ไปเรียนรู้มัน มันก็มีอยู่
อย่างที่ท่านพูดว่า พระพุทธเจ้าจะบังเกิดขึ้นก็ตาม หรือไม่บังเกิดขึ้นก็ตาม ธรรมะก็คงมีอยู่อย่างนั้น มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น ไม่พลิกแพลงไปไหน มันเป็นสัจจธรรม
เราไม่เข้าใจสัจจธรรม ก็ไม่รู้ว่าสัจจธรรมเป็นอย่างไร นี้เรียกว่า การพิจารณาในความรู้ของผู้ปฏิบัติที่ไม่มีพื้นปริยัติ
ขอให้ดูจิต พยายามอ่านจิตของเจ้าของ พยายามพูดกับจิตของเจ้าของ มันจึงจะรู้เรื่องของจิต ค่อย ๆ ทำไป ถ้ายังไม่ถึงที่ของมัน มันก็ไปอยู่อย่างนั้น
ครูบาอาจารย์บางท่านบอกว่า ทำไปเรื่อย ๆ อย่าหยุด บางทีเรามาคิด “เออ ทำไปเรื่อย ๆ ถ้าไม่รู้เรื่องของมัน ถ้าทำไม่ถูกที่มัน มันจะรู้อะไร” อย่างนี้เป็นต้น ก็ต้องไปเรื่อย ๆ ก่อน แล้วมันก็จะเกิดความรู้สึกนึกคิดขึ้นในสิ่งที่เราพากเพียรทำนั้น
มันเหมือนกันกับบุรุษที่ไปสีไฟ ได้ฟังท่านบอกว่า เอาไม้ไผ่สองอันมาสีกันเข้าไปเถอะ แล้วจะมีไฟเกิดขึ้น บุรุษนั้นก็จับไม้ไผ่เข้าสองอัน สีกันเข้า แต่ใจร้อน สีไปได้หน่อย ก็อยากให้มันเป็นไฟ ใจก็เร่งอยู่เรื่อย ให้เป็นไฟเร็วๆ แต่ไฟก็ไม่เกิดสักที บุรุษนั้นก็เกิดความขี้เกียจ แล้วก็หยุดพัก แล้วจึงลองสีอีกนิด แล้วก็หยุดพัก ความร้อนที่พอมีอยู่บ้าง ก็หายไปล่ะซิ เพราะความร้อนมันไม่ติดต่อกัน
ถ้าทำไปเรื่อยๆอย่างนี้ เหนื่อยก็หยุด มีแต่เหนื่อยอย่างเดียวก็พอได้ แต่มีขี้เกียจปนเข้าด้วย เลยไปกันใหญ่ แล้วบุรุษนั้นก็หาว่าไฟไม่มี ไม่เอาไฟ ก็ทิ้ง เลิก ไม่สีอีก แล้วก็ไปเที่ยวประกาศว่า ไฟไม่มี ทำอย่างนี้ไม่ได้ ไม่มีไฟหรอก เขาได้ลองทำแล้ว
ก็จริงเหมือนกันที่ได้ทำแล้ว แต่ทำยังไม่ถึงจุดของมันคือความร้อนยังไม่สมดุลกัน ไฟมันก็เกิดขึ้นไม่ได้ ทั้งที่ความจริงไฟมันก็มีอยู่ อย่างนี้ก็เกิดความท้อแท้ขึ้นในใจของผู้ปฏิบัตินั้น ก็ละอันนี้ไปทำอันโน้นเรื่อยไป อันนี้ฉันใดก็ฉันนั้น
การปฏิบัตินั้น ปฏิบัติทางกายทางใจทั้งสองอย่าง มันต้องพร้อมกัน เพราะอะไร? เพราะพื้นเพมันเป็นคนมีกิเลสทั้งนั้น พระพุทธเจ้าก่อนที่จะเป็นพระพุทธเจ้า ท่านก็มีกิเลสแต่ท่านมีปัญญามากหลาย พระอรหันต์ก็เหมือนกัน เมื่อยังเป็นปุถุชนอยู่ ก็เหมือนกับเรา
เมื่อความอยากเกิดขึ้นมา เราก็ไม่รู้จัก เมื่อความไม่อยากเกิดขึ้นมา เราก็ไม่รู้จัก บางทีก็ร้อนใจ บางทีก็ดีใจ ถ้าใจเราไม่อยาก ก็ดีใจแบบหนึ่ง และวุ่นวายอีกแบบหนึ่ง ถ้าใจเราอยาก มันก็วุ่นวายอย่างหนึ่ง และดีใจอย่างหนึ่ง มันประสมประเสกันอยู่อย่างนี้
อันนี้คือปฏิปทาของผู้ปฏิบัติเรา
[อ่านใจธรรมชาติ] หลวงปู่ชา สุภัทโท หนังสือ หมวด: โพธิญาณ