-
@ HereTong
2025-04-27 03:00:40แดดกับ Infradian Rhythm จังหวะลึกล้ำของชีวิตที่ธรรมชาติกำหนด เวลาเราพูดถึง "วงจรชีวิต" คนส่วนใหญ่จะนึกถึงแค่การนอนตื่นตามรอบวัน หรือ circadian rhythm ที่พระอาทิตย์ขึ้นแล้วเราตื่น พระอาทิตย์ตกแล้วเราง่วง แต่จริง ๆ แล้วร่างกายมนุษย์นั้นลึกซึ้งกว่านั้นมากครับ เพราะนอกจาก circadian rhythm แล้วเรายังมีจังหวะชีวภาพอีกชนิดนึงที่ชื่อว่า "Infradian Rhythm" ซึ่งไม่ได้เดินเป็นรอบวัน แต่เป็นรอบที่ยาวกว่านั้น อาจเป็นรอบสัปดาห์ หรือแม้แต่รอบเดือน และหนึ่งในตัวตั้งจังหวะชั้นดีนี้ที่ใครหลายคนมองข้าม ก็คือ "แดด" นั่นเองครับ
Infradian Rhythm คืออะไร? คำว่า Infradian มาจากรากศัพท์ละติน "infra" ที่แปลว่า "ต่ำกว่า" หรือ "ยาวกว่า" และ "diem" ที่แปลว่า "วัน" เพราะฉะนั้น Infradian จึงหมายถึงวงจรชีวภาพที่นานกว่าหนึ่งวัน เช่น - วัฏจักรรอบเดือนของผู้หญิง (ประมาณ 28 วัน) - จังหวะของระบบภูมิคุ้มกัน (ที่มีกลไกการตอบสนองขึ้นลงตามรอบ) - วัฏจักรการหลั่งฮอร์โมน เช่น testosterone ในผู้ชาย ที่ขึ้นลงเป็นรายสัปดาห์ - จังหวะของอารมณ์หรือพลังชีวิต ที่มี pattern ประจำสัปดาห์หรือเดือน
วงจรเหล่านี้ไม่ได้ใช้แค่เวลาบอกจังหวะ แต่ต้องการสิ่งกระตุ้น (zeitgeber) จากธรรมชาติ เช่น แสง เสียง อุณหภูมิ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง แสงแดด ผมลองรวบรวมสรุปเป็นหมวดๆให้เพื่อเห็นภาพรวมง่ายขึ้นนะครับ
หมวดที่ 1 แดดกับ Infradian Rhythm ของผู้หญิง สำหรับผู้หญิง แดดมีบทบาทโดยตรงกับรอบเดือนผ่านหลายกลไก เช่น 1.1 แสงแดดกับวิตามิน D วิตามิน D ที่สร้างจากแสง UVB มีผลต่อการควบคุมระดับฮอร์โมนเพศหญิง เช่น estrogen และ progesterone หากขาดแดด วงจรฮอร์โมนอาจรวน ทำให้มีอาการ PMS หนัก อารมณ์แกว่ง หรือรอบเดือนมาไม่ปกติ 1.2 แดดกับการหลั่ง melatonin แสงแดดยามเช้าช่วยหยุดการผลิต melatonin และเปิดการผลิต cortisol อย่างสมดุล ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ควบคุมการสร้าง LH และ FSH (ฮอร์โมนที่ควบคุมการตกไข่) 1.3 Infrared light กับไมโทคอนเดรีย แดดบ่ายที่มีรังสีอินฟราเรดช่วยกระตุ้นพลังงานในระดับเซลล์ ซึ่งส่งผลต่อการซ่อมแซมและปรับสมดุลฮอร์โมนระยะยาว
หมวดที่ 2 แดดกับ Infradian Rhythm ของผู้ชาย แม้ผู้ชายจะไม่มีรอบเดือน แต่ก็มี Infradian เช่นกัน โดยเฉพาะในระบบฮอร์โมนและอารมณ์ครับ 2.1 Testosterone fluctuation แสงแดดช่วยกระตุ้นการหลั่ง testosterone โดยเฉพาะแสงแดดที่สัมผัสผิวหนังและดวงตา การได้รับแดดสม่ำเสมอช่วยให้ร่างกายเข้าสู่วงจรการผลิตฮอร์โมนที่เหมาะสม และไม่เหวี่ยงมาก 2.2 แดดกับการนอน แสงแดดยามเช้ารีเซ็ตวงจรการนอน ทำให้ testosterone หลั่งดีขึ้นในช่วงเช้ามืด (ซึ่งเป็นเวลาที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนนี้มากที่สุด) 2.3 แดดกับการซ่อมแซมกล้ามเนื้อ รังสี Infrared และ Red light จากแดดบ่ายช่วยให้ไมโทคอนเดรียในกล้ามเนื้อทำงานดีขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับรอบการฟื้นฟูแบบ Infradian ของกล้ามเนื้อหลังออกกำลังกาย
หมวดที่ 3 แดดกับ Infradian Rhythm ในผู้สูงอายุ เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายมักจะสูญเสียจังหวะธรรมชาติไปทีละน้อย ในหมวดนี้เลยแสดงถึงความสัมพันธ์ตามวัยครับ 3.1 ฮอร์โมนลดลง การตอบสนองต่อแสงก็ลดลง ผู้สูงวัยมักผลิต melatonin ลดลง ทำให้นอนไม่ลึกและส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันที่มีจังหวะ Infradian 3.2 แสงแดดช่วยชะลอการเสื่อม งานวิจัยหลายชิ้นพบว่าแดดช่วยชะลอความเสื่อมของจังหวะชีวภาพในสมอง โดยช่วยลดภาวะซึมเศร้าและชะลอการเสื่อมของสมอง (เช่น Alzheimer) 3.3 ไนตริกออกไซด์ (NO) รังสี UVA จากแดดกระตุ้นการปล่อย NO จากผิวหนัง ซึ่งช่วยเรื่องความดันโลหิตและการไหลเวียนเลือดแบบรอบสัปดาห์ ส่งผลดีต่อหัวใจในระยะยาว
ดังนั้นเมื่อเอาทั้งหมดมาขมวดรวมกันจะพบว่า กลไกสำคัญที่แดดกระทบกับ Infradian Rhythm มีภาพร่างดังนี้ครับ 1.Vitamin D จาก UVB ช่วยสร้างสมดุลฮอร์โมน, สนับสนุนภูมิคุ้มกัน 2.Nitric Oxide (NO) จาก UVA ช่วยขยายหลอดเลือด, ลดการอักเสบเรื้อรัง 3.Melatonin และ Cortisol แดดยามเช้าควบคุมการตื่นและการนอนอย่างมีจังหวะ 4.Infrared Light ช่วงแดดบ่ายแก่ ช่วยซ่อมแซมเซลล์, สนับสนุนการฟื้นตัว 5.Circannual และ Infradian Crosslink แสงแดดฤดูต่าง ๆ (ที่มีช่วงคลื่นต่างกัน) ส่งผลให้จังหวะรอบเดือนและภูมิคุ้มกันเปลี่ยนไปตามฤดูกาล
ซึ่งถ้าอ่านแล้วบางอย่างดูยังสับสนว่าเอ๊ะมันควรจะเป็น circadian rhythm ไม่ใช่เหรอ เช่น การนอน คือมันสามารถอธิบายได้สั้นๆว่า มันมีการทับซ้อนกันครับ ที่เราแยกเป็นเรื่องนี้มาพูดคุยกันเพราะมันมีความสัมพันธ์กันอยู่ อย่างที่คุยกันเสมอๆว่า ร่างกายต้องมองเป็น spectrum ไม่ใช่ binary คอมพิวเตอร์ 011001
โดยตรงแล้ว Sleep–Wake Cycle เราคุมกันที่ Circadian กับ Homeostatic Drive มากกว่า แต่ Infradian ก็อาจส่งผลทางอ้อมผ่านทาง ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนขึ้น–ลงตามรอบเดือน ส่งผลต่อคุณภาพการนอน เช่น ช่วงใกล้มีประจำเดือนอาจนอนหลับไม่ลึก หรือช่วงวัยทอง (perimenopause) ที่ Infradian เริ่มเปลี่ยนฮอร์โมน จะมีอาการร้อนวูบวาบ ตื่นกลางดึกบ่อยขึ้น หรือแม้แต่ อาการซึมเศร้าตามฤดูกาล (Infradian รายปี) มักเกิดฤดูหนาว ซึ่งแสงน้อย ทำให้ Circadian ฟั่นเฟือนไปด้วย ทำให้นอนมากขึ้นหรือนอนไม่หลับตามฤดู แม้กระทั่งสัมพันธ์ทางพฤติกรรม งานวิจัยบางชิ้นชี้ว่ามนุษย์อาจมีแนวโน้มอยากนอนเพิ่มขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์ (weekend catch-up sleep) ซึ่งเป็น Infradian รายสัปดาห์ที่เกิดจากพฤติกรรมสังคมและสะสม Homeostatic Drive
ทีนี้พอจะเข้าใจแล้วใช่ไหมครับว่า ทำไมเราควรเลิกถามเสียทีว่า "ตากแดดเวลาไหนดีที่สุด", "ตากแดดนานแค่ไหนดีที่สุด" จะให้ตอบยังไง? มันแงะออกมาไม่ได้ครับ เราอย่ายึดติดกับการสรุป สรุป สรุป สรุปสิว่าตกลงต้องยังไง การเสพโซเชียลทำให้เราเคยชินกับความฉาบฉวย คัดย่อ จนหลงลืมรายละเอียดว่า โลกแห่งชีวะคือความสัมพันธ์ พารายังไม่ได้แค่แก้ปวดเลย จะนับอะไรกับแดด
คำตอบที่ดีที่สุดผมคิดว่ามันคือ "เลิกถามจุ๊กจิ๊ก แล้วหัดออกไปตากให้ได้ก่อน เปิดตา เปิดหู ปิดปาก" จากนั้นค่อยเอาข้อสงสัยจากการตาก ข้อสงสัยจากการอ่าน มาประมวลผลเองก่อนว่า มีอะไรที่สามารถตอบกันได้บ้างไหม
อย่างที่เราเคยเปรียบเปรยกันครับ แดดไม่ใช่แค่แสง แต่คือผู้อำนวยเพลงที่ประสานเสียงร่างกายทุกจังหวะ ในขณะที่ไฟฟ้าทำให้เราลืมจังหวะธรรมชาติ แดดยังอยู่ตรงนั้น คอยเคาะจังหวะอย่างอดทน รอให้เรากลับมาได้ยินเสียงของตัวเองอีกครั้งหนึ่ง ไม่ใช่แค่เสียงในวันนี้ แต่คือเสียงของชีวิตในรอบเดือน หน้า และปีต่อไป
แดด…ไม่เคยหายไปจากเราเลย มีแต่เราที่ห่างหายไปจากแดดเสียเอง
ตากไปก่อนเหอะ แล้วค่อยถาม "บ่อยเท่าที่ได้ นานเท่าที่ไหว"
ส่วนใครอ่านบทนี้แล้วงง ไม่ต้องเครียดครับ บทต่อๆไปจะค่อยๆมาคลีคลายให้ ทีละนิด #pirateketo #SundaySpecialเราจะไปเป็นหมูแดดเดียว #กูต้องรู้มั๊ย #ม้วนหางสิลูก #siamstr