-
@ HereTong
2025-04-23 01:04:54ช่วงหลัง ๆ มานี้ ถ้าใครเดินผ่านชั้นนมในซูเปอร์ฯ แล้วสะดุดตากับกล่องสีเรียบ ๆ สไตล์สแกนดิเนเวียนที่เขียนคำว่า "OATLY!" ตัวใหญ่ ๆ ไม่ต้องแปลกใจ เพราะนี่คือเครื่องดื่มที่กำลังพยายามจะทำให้ทุกบ้านเชื่อว่า "ดื่มข้าวโอ๊ตแทนนมวัวคือสิ่งที่ดีต่อสุขภาพ ต่อโลก และต่อเด็ก ๆ"
Oatly ไม่ได้มาเล่น ๆ เป็นดาวรุ่งของวงการ plant-based dairy ทางเลือก ด้วยการตลาดที่เฉียบคมและอารมณ์ขันแบบขบถ เพราะบริษัทนี้เขาวางโพสิชั่นของตัวเองว่าเป็นนักสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม ต่อต้านโลกร้อน และเป็นทางเลือกที่รักสัตว์รักโลกจนพืชยังปรบมือให้ แต่เบื้องหลังที่ดูคลีน ๆ กลับซ่อนกลยุทธ์ทางการตลาดที่แสบสันไม่เบา โดยเฉพาะการรณรงค์ในโรงเรียน และเทคนิคในการ “ซ่อนความหวาน” ได้อย่างแนบเนียนจนน้ำตาลยังงง
หวานแบบซ่อนรูปสูตรลับที่ไม่อยู่ในช่อง Sugar โอ๊ตมิลค์ของ Oatly มีคาร์บต่ำจริงตามฉลาก แต่ที่หลายคนไม่รู้คือ Oatly ใช้ เอนไซม์ย่อยแป้งจากข้าวโอ๊ต ให้กลายเป็นน้ำตาลมอลโทส ซึ่งมีรสหวานพอ ๆ กับน้ำตาลทราย แต่ไม่ต้องแสดงในช่อง Total Sugar บนฉลากโภชนาการ เพราะมันเกิดขึ้น "ตามธรรมชาติจากกระบวนการ" ซึ่งตรงตามเกณฑ์ FDA เป๊ะ
ความเจ้าเล่ห์ของระบบนี้คือ มอลโตสที่เกิดจากการย่อยแป้งด้วยเอนไซม์ ไม่ต้องนับเป็น “น้ำตาล” ในช่อง Sugar ของฉลากโภชนาการ เพราะมันถือเป็น “naturally occurring sugar” หรือ “น้ำตาลที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ” พูดง่ายๆ คือ หวานเหมือนโค้ก แต่ไม่ต้องบอกว่าใส่น้ำตาลเลยแม้แต่นิดเดียว! ในขณะที่เด็กๆ ดื่มแล้วบอกว่า “อร่อยมาก!” ผู้ใหญ่ก็เห็นฉลากแล้วบอกว่า “น้ำตาลแค่นิดเดียวเอง ดีจัง”… ความเข้าใจผิดแบบสองชั้นนี้คือการตลาดที่ชาญฉลาดแต่แฝงความไม่โปร่งใส
และเมื่อคุณไปอ่านงานวิจัยจะเจอว่า น้ำตาลมอลโตสที่ได้จากโอ๊ตผ่านกระบวนการย่อยแบบนี้ มีค่าดัชนีน้ำตาลสูงถึง 105-110 ซึ่งสูงกว่าโค้กเสียอีก (Coke อยู่ประมาณ 63) ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งอย่างรวดเร็ว และถ้าใครมีภาวะดื้อต่ออินซูลินหรืออยู่ในขอบเขต prediabetes ก็ยิ่งน่ากังวลเข้าไปใหญ่ พูดง่าย ๆ คือ Oatly หวาน แต่ไม่ต้องบอกว่าใส่น้ำตาล คนทั่วไปเลยเข้าใจผิดว่า “อ้าว มันไม่หวานนี่นา”
บางโรงเรียนในอังกฤษและสวีเดนเริ่มตั้งคำถามว่า การเปลี่ยนนมวัวที่อุดมไปด้วยไขมันดี โปรตีนสมบูรณ์ และแคลเซียม เข้าสู่ร่างกายเด็กๆ ให้กลายเป็น “นมโอ๊ตหวานแบบซ่อนรูป” แบบนี้ มันคือความยั่งยืนจริงๆ หรือเป็นเพียงการใช้ภาพรักษ์โลกบังหน้า แล้วขายคาร์บอย่างแนบเนียน โดยเฉพาะ The Telegraph ได้เผยแพร่บทความชื่อ “The truth about the great oat milk 'con'” ซึ่งกล่าวถึงการที่หน่วยงานกำกับดูแลโฆษณาในสหราชอาณาจักร (Advertising Standards Authority - ASA) สั่งห้ามโฆษณาบางรายการของบริษัท Oatly เนื่องจากพบว่ามีการให้ข้อมูลที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดเกี่ยวกับประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมของการเปลี่ยนจากนมวัวเป็นนมจากพืช รวมถึง ภาพลักษณ์ “plant-based ดีต่อโลก” ถูกใช้เป็น เครื่องมือโฆษณาเชิงอารมณ์ โดยลดคุณค่าของนมวัวแท้ ๆ และสิ่งที่น่าตลกร้ายก็คือ…บริษัท Oatly เคยออกมาโจมตีอุตสาหกรรมนมวัวว่า “ไม่โปร่งใส” ขณะเดียวกันพวกเขาเองกลับโดนฟ้องร้องเรื่องการใช้โฆษณาเกินจริง และพยายามซุกซ่อนกระบวนการผลิตที่ทำให้เกิดน้ำตาลแบบ “ซ่อนในตาราง” เสียเอง
ไม่แปลกที่หลายคนในแวดวงโภชนาการแซวว่า "Oatmilk is the new Coke" เพราะมันหวานแบบไม่รู้ตัว ดื่มเพลินเหมือนน้ำอัดลม แต่สื่อสารราวกับเป็นน้ำเต้าหู้สายโยคะ โอเคเรื่องพวกนี้เอาจริงๆเคยคุยกันแล้วในรายการ ลองไปดูย้อนได้ครับ
แต่นั่นยังไม่เท่ากับสิ่งนี้ครับ “Normalize It!”: รณรงค์เข้ารร.แบบซอฟต์พาวเวอร์ ถ้าคิดว่าแค่ขายในซูเปอร์คือจุดหมาย ขอบอกว่า Oatly เล่นเกมไกลกว่านั้น เพราะเขาเปิดแคมเปญชื่อ “Normalize it!” ในหลายประเทศในยุโรป เช่น เยอรมนี สวีเดน และเนเธอร์แลนด์ โดยรณรงค์ให้ เครื่องดื่มจากพืชถูกบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของ "โครงการนมโรงเรียน" ที่มีอยู่เดิมในระบบรัฐ ซึ่งแต่เดิมให้เฉพาะนมวัวเท่านั้น
ในโฆษณาแคมเปญนี้ มีการเล่นภาพเด็ก ๆ ที่แอบเอาโอ๊ตมิลค์ใส่กล่องนมโรงเรียน พร้อมประโยคชวนสะอึกว่า “เด็กควรต้องทำเองเหรอ?” (เหมือนจะบอกว่ารัฐควรรับหน้าที่แทน) ดูความแสบได้ที่นี่ https://youtu.be/D3d_GfGVq_I?si=3pi6VKnlJC2SDleW
มันฟังดูดีใช่ไหม...แต่ประเด็นคือ ใครเป็นคนได้ประโยชน์? คำตอบคือ บริษัทที่ขายโอ๊ตมิลค์นั่นแหละ
เพราะหากสำเร็จ โรงเรียนจำนวนมากในยุโรปจะต้องซื้อผลิตภัณฑ์จากพืชแทนหรือควบคู่กับนมวัว ทำให้บริษัทที่ขายเครื่องดื่มพืชกลายเป็นผู้ได้สัมปทานทางอ้อมในชื่อ “ความยั่งยืน”
Lobby แบบ “รักษ์โลก” แต่ก็ไม่ลืมรักษาผลประโยชน์ แคมเปญนี้ไม่ได้แค่โฆษณาเล่น ๆ แต่ยังมีการล็อบบี้ทางนโยบายในระดับสหภาพยุโรป (EU) โดยผลักดันให้เครื่องดื่มจากพืชที่มีการเสริมแคลเซียมได้รับการยอมรับเท่าเทียมกับนมวัว Oatly จึงไม่ได้แค่เป็นแบรนด์ข้าวโอ๊ตอีกต่อไป แต่กลายเป็น "นักกิจกรรม" ที่มีเป้าหมายใหญ่คือการเข้าไปอยู่ในระบบอาหารภาครัฐ โดยเฉพาะสำหรับเด็ก ๆ
ปัญหาคือไม่ใช่แค่ “พืช” แต่คือ “วิธีการสื่อสาร” ไม่มีใครเถียงว่าเด็กควรมีทางเลือกในอาหาร แต่เมื่อ “ข้อมูล” ที่ใช้สร้างภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์ถูกเรียบเรียงให้ดูดีเกินจริง โดยเฉพาะเมื่อซ่อนความหวานไว้ในกลไกทางเคมี และรณรงค์ให้เข้าสู่ระบบโรงเรียน มันก็กลายเป็นประเด็นที่เราควรถามว่า “เรากำลังให้เด็กกินอะไร เพราะอะไร และใครได้ประโยชน์จากสิ่งนั้น?” เครื่องดื่มจากพืชไม่ใช่ปีศาจ และนมวัวก็ไม่ใช่เทวดา แต่สิ่งที่น่ากลัวคือกลยุทธ์ที่หลอกให้คนเชื่อว่าทางเลือกหนึ่ง “ดีกว่า” โดยไม่ให้ข้อมูลครบถ้วน หรือยิ่งแย่กว่านั้นถ้าเป็นการตัดริดรอนสิทธิ์ในการเลือก
วันหนึ่งถ้าเด็ก ๆ ทุกคนได้ดื่มโอ๊ตมิลค์ที่หวานแต่ไม่เรียกว่าน้ำตาล เพราะใครบางคนบอกว่า “ดีต่อสุขภาพ” เราควรถามว่า “สุขภาพของใคร?” และ “ใครนิยามว่าอะไรคือดี?” เพราะบางครั้ง โลกที่ดูยั่งยืน อาจมีรากฐานมาจากการตลาดที่ยืนนาน
เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับการเกลียดพืช หรือรังเกียจข้าวโอ๊ต หรือนมโอ้ต แต่มันเกี่ยวกับ ความจริงที่ถูกแต่งหน้าให้ดูดีเกินจริง ในนามของสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจกลายเป็นการเปลี่ยนเด็กๆ ให้คุ้นชินกับเครื่องดื่มหวานแบบไม่รู้ตัว ในขณะที่เราเคยพยายามลดโค้กจากโรงเรียนไปเมื่อสิบปีก่อน
อย่าลืมว่า ไม่ใช่แค่น้ำตาลที่ต้องดู แต่ต้องดูว่ามันมาจากไหน ถูกสร้างขึ้นอย่างไร และร่างกายตอบสนองอย่างไร
สำคัญที่สุดคือ เรามีสิทธิ์ในการเลือกไหม ในอนาคต
#pirateketo #กูต้องรู้มั๊ย #ม้วนหางสิลูก #siamstr