-
@ Libertarian Studies
2023-10-23 08:39:38การยอมรับความเป็นจริงโดยอดีตนักศึกษา สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล (Somsak Jeamteerasakul) ที่ออกมากล่าวว่าขบวนการนักศึกษาในทศวรรษที่ 70s โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลา (“6 October 1976 massacre”) ในประเทศไทยนั้นเป็น “คอมมิวนิสต์” เป็นเรื่องที่ไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้นอกเสียจากกลุ่มบุคคลรุ่นใหม่ที่พึ่งเข้ามาศึกษา – “รู้เรื่อง” – การเมืองไทยเพียงแค่ไม่กี่ปีเท่านั้นหรืออาจจะเป็นพวกประชาธิปไตยนิยมที่มองทุกอย่างที่ตรงกันข้ามกับเผด็จการทหารว่าเป็น “เสรีนิยมประชาธิปไตย” ทั้งหมด ในขณะที่พวกเขาไม่สามารถทำใจยอมรับความเป็นจริงได้ว่าขบวนการนักศึกษาดังกล่าวก็มีแนวคิดเผด็จการไม่ต่างอะไรจากศัตรูหรืออาจจะเผด็จการเสียมากกว่าทั้งในแง่เศรษฐกิจและกรรมสิทธิ์-ทรัพย์สินส่วนบุคคลกว่าศัตรูที่พวกเขาอ้างว่าเผด็จการนักหนา การเสนอเหตุการณ์ 6 ตุลาในแง่ของ “ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง” นั้นควรที่จะถูกเสนอในแง่ที่เป็นกลางมากที่สุดและในแง่ของการตั้งคำถามกับภาพจำ (“historical revisionism”) ซึ่งก็ต้องรวมไปถึงการปฏิเสธมุมมองการมองประวัติศาสตร์ทางการเมืองแบบซ้ายที่เน้นให้ความสนใจไปกับการสร้างความสงสารให้กับผู้ถูกกระทำ (“ผู้ถูกกดขี่”) เท่านั้น ในเรื่องนี้กลุ่มฝ่ายซ้ายมักจะสร้างความชอบธรรมให้กับขบวนการนักศึกษาฝ่ายซ้ายผ่านการเชิดชูว่านักศึกษาเหล่านั้นเป็น “วีรบุรุษ” ไปเลยโดยไม่สร้างเข้าใจความเป็นมาอย่างแท้จริงหรือแม้แต่การพยายามที่จะหลีกเลี่ยงประเด็นเรื่องที่ว่าทำไม “ประชาชนและกองกำลังกึ่งทหารในช่วงนั้นถึงถึงออกมาสังหารโหดขบวนการนักศึกษาได้อย่างเลือดเย็น?” ในปัจจุบันกลับมีแต่พวกนักเขียนประวัติศาสตร์ฝ่ายซ้าย (left-wing historiography) ที่มักจะนำเหตุการณ์นี้ขุดขึ้นมาซ้ำ ๆ หรือในคำพูดของพวกเขา – “การผลิตซ้ำความรุนแรง – เพื่อ “ตอกย้ำ” ความ “โหดร้าย” ของการกระทำที่เกิดขึ้นโดยพยายามที่จะป้ายสีว่าฝ่ายที่กระทำนั้น “ไม่มีเหตุผล” ราวกับว่าเป็น “กลุ่มคนฟาสซิสต์ที่ไม่มีเหตุผล” แต่ใช้เพียงอารมณ์รักชาติ-พระมหากษัตริย์และความเกลียดชังในการตัดสินใจ ซึ่งก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือของฝ่ายซ้ายที่มักจะใช้ได้ผลมาตลอดในการป้ายสีฝ่ายอื่นว่า “ด้อยในด้านวิชาการ” ถ้าเป็นเช่นนี้ตลอดไปเราก็จะไม่สามารถตั้งคำถามได้ต่อฝ่ายซ้ายที่มักอ้างศีลธรรมของเหตุการณ์ 6 ตุลาไปได้ตลอด ในบทความนี้ทางผู้เขียนไม่ได้ต้องการให้เป็นไปในทางที่บรรยายเล่าถึงเหตุการณ์แต่เป็นการตั้งคำถามและวิเคราะห์จากมุมมองของทฤษฎีชนชั้นนำ (elite theory)
พยายามยึดอำนาจชนชั้นนำโดยฝ่ายซ้าย: เหมือนกับการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 (Siamese revolution of 1932) ที่ผลลัพธ์คือราชอาณาจักรสยามเปลี่ยนรูปแบบประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ การตั้งคำถามต่อเหตุการณ์ปฏิวัติในครั้งนั้นเป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับกันได้ในแวดวงประวัติศาสตร์-การเมืองไทย ผู้ที่ตั้งคำถามกับการปฏิวัติดังกล่าวก็จะถูกกล่าวหาบ้างว่า “ล้าหลัง”, “ต่อต้านประชาธิปไตย” และ อื่น ๆ อีกมาก เหตุการณ์ 6 ตุลาก็เช่นกัน มักมักจะถูกย้ำเตือนให้เป็นเพียงแค่ภาพจำที่ว่า “ปีศาจร้ายฆ่าสังหารนักศึกษาผู้บริสุทธิ์” แต่พวกเขาเหล่านั้นไม่ได้มองถึง “การแย่งชิงอำนาจระหว่างฝ่ายซ้ายกับฝ่ายรัฐไทย” ที่เป็นแรงผลักดันในการนำไปสู่การสังหารหมู่ดังกล่าวแม้แต่น้อย มากไปกว่านั้นเหตุการณ์ 6 ตุลานั้นถึงแม้จะเป็นเหตุการณ์ที่พวกเขาเน้นย้ำว่า “นักศึกษาผู้บริสุทธิ์ถูกฆ่าสังหารหมู่อย่างเลือดเย็น” พวกเขาก็ได้มองข้ามประเด็นที่ว่าทำไมชนชั้นนำของรัฐไทยในสมัยนั้นถึงเลือกที่จะเดินไปทางนั้น ในประเด็นนี้มันเริ่มจากการที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเริ่มที่จะเข้ามีบทบาทมากขึ้นต่อการเมืองไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (Lau 2014) โดยเฉพาะในแง่ของการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ที่กำลังแพร่ระบาดในภูมิภาคอินโดจีน (Indochina) ในขณะนั้น เราควรตั้งคำถามว่าถ้าเราไม่ได้รับแรงสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาเลยนโยบายการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ของรัฐไทยจะเป็นไปทางไหน? ทางผู้เขียนมองว่าสิ่งที่สำคัญมากไปกว่านั้นก็คือ “มนุษย์” (human elements) เราควรจะทำความเข้าใจว่าทำไมสังคมไทยมาถึงจุดนั้นได้อย่างไร? พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) มีส่วนเกี่ยวข้องและมีบทบาทเพียงใด? และ การปฏิวัติทางวัฒนธรรม (Cultural Revolution) ในจีนนั้นสร้างอิทธิพลมากเพียงใดต่อขบวนการนักศึกษาฝ่ายซ้ายในสมัยนั้น? คำถามเหล่านี้มักจะถูกหลีกเลี่ยงโดยเหล่านักประชาธิปไตยนิยม อีกอย่างมันเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้อย่างชัดเจนว่า เหตุการณ์ 14 ตุลา (1973 Thai popular uprising) ที่เป็นการล้มอำนาจเผด็จการทหารของ ถนอม กิตติขจร (Thanom Kittikachorn) สร้างความแตกแยกให้กับกลุ่มทางการเมืองหลายฝ่ายและประชาชนที่ไม่ได้เห็นด้วยกับ “ความหลากหลายของประชาธิปไตย” ที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ดังกล่าวแต่อย่างใด การขึ้นมาของฝ่ายซ้ายในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาและความขัดแย้งที่ตามมาจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้นอกเสียจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะทำการล้มกระดานอีกฝ่ายให้หายไปจากสังคมอย่างสมบูรณ์ (Unger 2016)
การที่ชนชั้นนำเผด็จการทหารและประชาชนชาวไทยมองว่าการสังหารหมู่นักศึกษาเป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้และจะทำให้ไม่เกิดผลเสียต่อภาพลักษณ์ของพวกเขาใด ๆ นั้นทางผู้เขียนมองว่าเป็นเพราะ (a) รัฐบาลในสมัยนั้นมองว่ารัฐไทยมีการสนับสนุนโดยรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างเต็มรูปแบบ การที่จะสังหารกลุ่มคนที่ถูกกล่าวหา/หรือเป็นคอมมิวนิสต์จริงนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าสงสัย; (b) การที่รัฐบาลและประชาชนชาวไทยในสมัยนั้นมองว่าภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์มีความอันตรายต่อ “ชาติ, ศาสนา และ พระมหากษัตริย์” ซึ่งเป็นพื้นฐานของรัฐไทยนั้นมีน้ำหนักพอสมควร การลุกฮือของขบวนการนักศึกษาฝ่ายซ้ายต่อการกลับมาของนาย ถนอม ถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ควรจะถูกยับยั้งในมุมมองของพวกเขา; (c) ในสมัยสงครามเย็นนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นภัยอันตรายอย่างแท้จริงในโลกที่ถูกแบ่งเป็นสองขั้วอย่างชัดเจนและประเทศไทยก็โดนล้อมไปด้วยรัฐสังคมนิยม เช่น ลาว, เวียดนาม และ เขมรแดง; (d) การที่พวกเขาสังหารหมู่นักศึกษานั้นถือว่ามีความชอบธรรมตามหลักการและทฤษฎีชนชั้นนำที่มองเห็นภึงภัยคุกคามอันแท้จริง ซึ่งก็คือ “พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” ที่วางหมากเอาไว้หมดแล้วตามตะเข็บชายแดนและในภาคเหนือกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยการแตกหักมันเริ่มจากการที่ฝ่ายชนชั้นรัฐไทยพยายามที่จะเดินหมากเพื่อยุติวิกฤตทางการเมืองให้เร็วที่สุดหรือก็คือการนำนาย ถนอม กลับมา (Lau and et al 2014) ทั้งหมดจึงสรุปในแง่ของการมองประวัติศาสตร์แบบตามที่มันเกิดขึ้นมากกว่าที่จะมองในมุมมองของการเขียนประวัติศาสตร์โดยฝ่ายซ้ายเสียส่วนใหญ่ที่มักป้ายสีว่าอีกฝ่ายไม่มีมูลเหตุในการสังหารหมู่ ในประเด็นนี้ทางผู้เขียนแนะนำให้ท่านผู้อ่านเปรียบเทียบกับเหตุการณ์สังหารหมู่อื่น ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกตามประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นมา ในทุกวันนี้เราก็เห็นได้ชัดในสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซียหรือสงครามระหว่างฮามาสกับอิสราเอล ทุกอย่างมันมีเหตุผลและการที่นักวิชาการฝ่ายซ้ายพยายามที่จะเบี่ยงว่านักศึกษาสมัยนั้นบริสุทธิ์และต้องการที่จะเปลี่ยนประเทศไปใน “ทางที่ดี” เช่น ในทางเสรีนิยมประชาธิปไตย จึงเป็นเรื่องหลอกลวงที่พวกเขามักหยิบขึ้นมาเล่นประจำเพื่อสนองความชอบธรรมทางประวัติศาสตร์
“โดยทั่วไปอาจกล่าวได้ว่าอิทธิพลของเหมาเจ๋อตงและความคิดเหมา [(Maoism)] ในขบวนการนักศึกษาไทย มาพร้อมกับอิทธิพลของ พคท. ในลักษณะที่เป็นเรื่องเดียวกัน” (เจียมธีรสกุล 93, 2001)
“ต้นปี 2517 องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดนิทรรศการ ‘จีนแดง’ ซึ่งต้องนับว่าเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ มีคนไปดูหลายต่อหลายหมื่นคนจนหอประชุมใหญ่ดูคล้ายจะ ‘แตก’ ขึ้นมาจริง ๆ หนังสือ ปรัชญานิพนธ์เหมาเจ๋อตง ที่ตีพิมพ์เพื่อประกอบงานจำนวนหนึ่งหมื่นเล่มขายหมดในพริบตา พิมพ์อีกหมื่นเล่มก็หมดในเวลาอันรวดเร็ว” (เจียมธีรสกุล 93, 2001)
ทั้งหมดนี้สามารถกล่าวได้ว่า “การเปลี่ยนผ่านของชนชั้นนำและอำนาจ” คือใจความหลักของการเข้าใจการขึ้นมาของขบวนการนักศึกษาฝ่ายซ้ายในไทยที่มีทั้งฝ่ายที่เอาเสรีนิยมประชาธิปไตยและประชาธิปไตยในรูปแบบอื่น ๆ ที่เปิดทางให้เป็นเครื่องมือของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและเหล่าเหมาอิสต์อีกที ฉะนั้นใจความสำคัญของเหตุการณ์ 6 ตุลานั้นควรถูกมองไม่ต่างอะไรจากประเทศฝรั่งเศสในช่วงที่เกิดการปฏิวัติอย่างรุนแรง สถานการณ์ที่ขบวนการนักศึกษาทำสำเร็จและพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยสามารถใช้โอกาสที่เกิดจากการปฏิวัติดังกล่าวเพื่อยึดครองประเทศจึงเป็นเรื่องที่ไม่ไกลตัวมากนัก ซึ่งก็หมายความว่าการสังหารหมู่นักศึกษาก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ชนชั้นนำไทยมองว่า “มีความจำเป็น” แต่น่าเสียดายที่ชนชั้นนำและทหารในสมัยนี้มองไม่เห็นถึงภัยคุกคามของ “ลัทธิซ้ายใหม่” (“New Left”) ที่เน้นไปที่การแทรกซึมสถาบันทางสังคมและการแปรเปลี่ยนทางวัฒนธรรมทีละเล็กน้อย อีกทั้งในแง่ที่ว่าพวกเขาคุ้นเคยกับการอยู่ร่วมกับแรงกดดันของประเทศเสรีนิยมประชาธิปไตยตะวันตกที่เลิกที่จะจัดการฝ่ายตรงข้ามด้วยอำนาจแข็ง (hard power) ใน “โลกยุคหลังความจริง-สงครามทางวัฒนธรรมและข้อมูล” (“post-truth world—culture and information war”) เหตุการณ์แบบ 6 ตุลานั้นในสมัยนี้จึงเกิดขึ้นได้ยากและมันเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย
ข้อยกเว้นที่ไม่มีหลักการ: “[...] หลังจากนั้น ที่นักศึกษาเข้าป่า แล้ว ‘เอาคืน’ ก็ไม่ต้องเล่า หรือไม่ก็เล่าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่เกี่ยวกัน ‘6 ตุลา’ เป็นอะไรที่ ‘โดด ๆ’ ตั้งให้เป็นเหตุการณ์ ‘ฆาตรกรรม’ ที่ ‘รัฐ’ ไม่ยอมชดใช้ ‘อาชญากรรมรัฐ’ จึงเหลือเพียงด้านเดียว สะดวกดี” (สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ผ่าน Facebook, ตุลาคม 6 เวลา 11:20 น.)
“เรื่องนี้ผมอยากให้เราคิดให้ดี เมื่อคราว ‘6 ตุลา’ นั้น เรามุ่งสร้าง ‘สังคมใหม่’ อย่างหนึ่ง หารู้ไม่ว่า ‘สังคมใหม่’ ที่เราหวังจะสร้างนั้น มันร้ายกาจเพียงใด แน่นอน คนที่ ‘ศัตรู’ ฆ่าตายเมื่อ ‘6 ตุลา’ นั้น ไม่สมควรตาย แต่คนที่ ‘เรา’ ฆ่าก่อนหน้าและหลังจากนั้น ก็ไม่สมควรตายเช่นกัน” (สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ผ่าน Facebook, ตุลาคม 6 เวลา 16:50 น.)
ในมุมมองของผู้เขียนลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างน้อยในรูปแบบของลัทธิมากซ์–เลนิน (Marxism-Leninism) ก็มีรูปแบบการปกครองและการจัดการทางการเมืองแบบประชาธิปไตยรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเรียกกันว่า “ประชาธิปไตยรวมศูนย์” (“democratic centralism”) โดยกระบวนการก็คือการตกลงที่จะทำอะไรในการเมืองไม่ว่าจะเป็นการบังคับใช้กฎหมาย, ทำนโยบายของพรรค และ อื่น ๆ นั้นจะต้องผ่านจากการตกลงเห็นชอบร่วมกันของสมาชิกภายในพรรคคอมมิวนิสต์เท่านั้น ซึ่งก็ถือว่าเป็นประชาธิปไตยในรูปแบบหนึ่งที่กลุ่มคนต่าง ๆ สามารถออกเสียงและตกลงหารือกันเพื่อบริหารประเทศหรือเขตที่ตนมีสมาชิกอยู่ได้ นี่ก็ถือเป็นการบริหารจัดการทางการเมืองการปกครองรูปแบบหนึ่งที่ประเทศคอมมิวนิสต์มหาอำนาจ อย่าง สหภาพโซเวียต ได้เคยใช้ไปแล้ว “ประชาธิปไตย” ไม่ได้มีเพียงแค่ “เสรีนิยมประชาธิปไตย” เพียงอย่างเดียว และการที่คนรุ่นใหม่และฝ่ายซ้ายในสมัยนี้ที่พึ่งเข้ามาศึกษาการเมืองเพียงแค่ผิวเผินนั้นไม่สามารถสร้างความเข้าใจได้หรือพยายามหลีกเลี่ยงประเด็นที่ว่าสิ่งที่นักศึกษา 6 ตุลาต้องการคือการสร้าง “สังคมใหม่” การไม่ยอมรับถึงความเป็นจริงและวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ว่าทำไมฝ่ายหนึ่งถึงเข่นฆ่าอีกฝ่ายได้อย่างโหดเหี้ยมนั้นถือว่าเป็นพฤติกรรม “ข้อยกเว้นที่ไม่มีหลักการ” (“unprincipled exception”) ของเหล่าคนรุ่นใหม่และฝ่ายซ้าย นิยามของมันก็ประมาณว่า “สิ่งที่พวกเขาทำก็คือการพยายามเลี่ยงประเด็นไปทีละเล็กน้อยเพื่อปกป้องความต้องการที่พวกเขาหรือนักวิชาการที่พวกเขาบูชาต้องการอย่างแท้จริง พวกเขาทำไปเพื่อหลีกหนีความเป็นจริงที่ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมามากมายในสังคมนั้นเกิดจากพวกเขาหรือบุคคลที่พวกเขานับถือ” ท้ายที่สุดแล้วพวกเขาควรจะภูมิใจว่าขบวนการนักศึกษาฝ่ายซ้ายที่พวกเขายกย่องเชิดชูนักหนามักจะถูกสร้างให้เป็นภาพจำที่เป็น “ความดี [นักศึกษา] ต่อต้านร้าย [ชนชั้นนำและประชาชนไทย]” เพียงแค่นี้พวกเขาก็สามารถชนะสงครามทางวัฒนธรรมผ่านการใช้ประวัติศาสตร์ให้เป็นประโยชน์
โดย TheReactionarist
บรรณานุกรม
Lau, Albert, et al. Southeast Asia and the Cold War. United Kingdom: Routledge. September 12, 2014.
Unger, Daniel H. and Chandra Mahakanjana. Thai Politics: Between Democracy and Its Discontents. Boulder, CO: Lynne Rienner Publishers. April 6, 2016.
เจียมธีรสกุล, สมศักดิ์. ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง. สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก. กันยายน 2001.