-
@ Tendou
2024-08-29 05:44:47Bitcoin อาจเผชิญกับภัยคุกคามร้ายแรง หากเรายังไม่ยอมเปลี่ยนแปลงเส้นทาง นับตั้งแต่การล่มสลายของเครือข่าย peer-to-peer ยุคบุกเบิก สู่กับดักแห่งการมองโลกแง่ดีเกินจริง ความเชื่อมั่นสุดโต่งและความจองหองพองขนอาจกลายเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดของ Bitcoin (จาก "The Halving Issue")*
บทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ใน Bitcoin Magazine ฉบับ “The Halving Issue”
นับตั้งแต่การล่มสลายของเครือข่าย peer-to-peer ยุคบุกเบิก สู่กับดักแห่งการมองโลกแง่ดีเกินจริง คู่มือนี้นำเสนอว่า Bitcoin อาจเผชิญหน้ากับหายภัยครั้งใหญ่ หากเรายังไม่ยอมปรับเปลี่ยนวิถีความเชื่อมั่นสุดโต่ง และอัตตาที่บวมเป่งอาจกลายเป็นดาบสองคมที่สังหาร Bitcoin โดยไม่รู้ตัว ทุกเช้าตรู่ เวลา 6 โมงตรง ณ เมืองพังซ์ซาโทนีย์ รัฐเพนซิลเวเนีย ชายที่ชื่อ “ฟิล คอนเนอร์ส” ตื่นขึ้นมาเผชิญหน้ากับวันเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าราวกับติดอยู่ในวังวนแห่งกาลเวลา คอนเนอร์สพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ชีวิตกลับสู่สภาวะปกติ ต่อให้เขาจะโดนแทง โดนยิง ถูกไฟคลอก ถูกแช่แข็ง หรือถูกช็อตด้วยไฟฟ้า แต่สุดท้ายเขาก็จะตื่นขึ้นมาในวันรุ่งขึ้นราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ในที่สุดคอนเนอร์สก็พบกับข้อสรุปที่เป็นไปได้เพียงหนึ่งเดียว นั่นคือ เขาต้องเป็นพระเจ้าอย่างแน่นอน (จาก ภาพยนตร์เรื่อง Groundhog Day)
ไม่ว่าจะในยามศึกสงครามหรือสถานการณ์ใดๆ การหลงคิดไปเองว่าตนเองอยู่เหนือความพ่ายแพ้ย่อมไม่ใช่วิธีคิดที่ชาญฉลาด หากเราลองพิจารณาแนวคิดเรื่องเวลาในหลากหลายวัฒนธรรม ตั้งแต่ปรัชญาตะวันตกของ Nietzsche ผู้เสนอแนวคิด "การกลับคืนมาอย่างนิรันดร์" (Eternal Return) ไปจนถึงปรัชญาตะวันออกอย่างศาสนาฮินดู ที่มีแนวคิดเรื่อง "วัฏจักรสังสารวัฏ" (Samsara) ต่างระบุว่าสรรพสิ่งในจักรวาลดำเนินไปเป็นวัฏจักรซ้ำๆ ไม่มีจุดสิ้นสุด ชีวิตเราก็เช่นกัน อาจเปรียบได้กับละครลิงที่ถูกนำกลับมาแสดงซ้ำแล้วซ้ำเล่า สิ่งเดียวที่เราทำได้คือการปรับเปลี่ยนวิธีคิดและการตอบสนองต่อสถานการณ์เดิมๆ มิเช่นนั้นแล้ว เราก็จะต้องเผชิญกับความผิดพลาดเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าไปชั่วกัลปาวสาน
แม้พวกเราเหล่าสาวก Bitcoin จะมักอวดอ้างสติปัญญาอันเหนือชั้นของตนเอง "ฉันนี่เจ๋งจริงๆ ค้นพบ Bitcoin ตั้งแต่ยังไม่มีใครรู้จัก" แต่ดูเหมือนว่าการเรียนรู้จากความผิดพลาดจะเป็นเรื่องยากเย็น แม้แต่กับ “ผู้สนับสนุน Bitcoin” ที่คร่ำหวอดในวงการมานาและถกเถียงเรื่อง Bitcoin ในแวดวงสาธารณะก็ดูเหมือนจะถดถอยลงในภาพรวม การพูดถึงบิตคอยน์ปัจจุบันกลายเป็นเพียงการพูดคุยอย่างผิวเผิน ไร้แก่นสาร ราวกับบทสนทนาหลังเลิกงานของพนักงานธนาคารยักษ์ใหญ่ใจกลาง Wall Street ที่เอาแต่พูดถึงแต่เรื่องผลกำไร โดยปราศจากการตั้งคำถามถึงความเสี่ยงและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในวงกว้าง ย้อนกลับไปในปี 2014 ตอนที่ Bitcoin ถูกหยิบยกขึ้นมาถกกันในรัฐสภาเยอรมันเป็นครั้งแรก เหล่าผู้เชี่ยวชาญต่างออกมาชี้ว่าความสามารถในการแกะรอยธุรกรรมเพื่อเปิดเผยตัวตนของผู้ใช้งานได้อย่างง่ายดาย คือ “จุดอ่อน” เพราะการใช้งาน Bitcoin อย่างแพร่หลายอาจนำไปสู่สังคมที่รัฐสามารถจับตาดูธุรกรรมของคุณได้ทุกกระเบียดนิ้ว
แต่ 10 ปีให้หลัง เมื่อ Bitcoin กลับมาสู่เวทีรัฐสภาเยอรมันอีกครั้ง บทบาทของผู้เชี่ยวชาญกลับถูกแทนที่ด้วยเหล่า Influencer ที่คอยป่าวประกาศให้ Bitcoin เป็นทางเลือกใหม่แทน CBDC ที่จะเป็น “จุดแข็ง” ให้รัฐสามารถจับตาดูการทำธุรกรรมของคุณได้
การถกเถียงเรื่อง Bitcoin ในปัจจุบันจึงไม่ต่างอะไรกับ "ละครลิง" ที่วนเวียนอยู่กับเรื่องเดิมๆ ไร้ซึ่งวิวัฒนาการ
ในขณะที่วงสนทนาเรื่อง Bitcoin ค่อยๆ ถูกครอบงำด้วยกลุ่มคนที่ฉวยโอกาส การถกเถียงอย่างมีเหตุผลถูกแทนที่ด้วยเสียงเชียร์อันโหวกเหวก ราวกับหลงเข้าไปสู่ดินแดนแห่ง "สาวก" ที่พร้อมใจกันสรรเสริญ Bitcoin ว่าเป็นเทคโนโลยีที่ไร้เทียมทาน หากใครเห็นต่างก็จะถูกตราหน้าว่าเป็นพวก "ไม่เข้าใจ" บรรยากาศแบบนี้เองที่เป็นอันตรายต่อ Bitcoin อย่างแท้จริง
Groundhog Day
ย้อนกลับไปในยุคแรกเริ่มของอินเทอร์เน็ต เราต่อสายโทรศัพท์บ้านเข้ากับคอมพิวเตอร์เพื่อเข้าสู่โลกออนไลน์ การเข้าถึง World Wide Web หรือ www ในยุคนั้นช่างยากเย็นแสนเข็ญ สำหรับครอบครัวที่มีสมาชิกหลายคนคงรู้ว่า การแย่งกันใช้โทรศัพท์เพื่อท่องเน็ตนั้นเป็นเรื่องชวนปวดหัวขนาดไหน เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่ายุคแห่งการ "ต่อเน็ตผ่านสายโทรศัพท์" นั้นช่างล้าหลัง แต่ด้วยข้อจำกัดทางเทคโนโลยีในยุคนั้น การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูงเป็นเรื่องที่ไกลเกินเอื้อม การใช้สายโทรศัพท์จึงเป็นทางเลือกที่ "ดีที่สุด" ในตอนนั้น แต่ไอ้ "ทางเลือกที่ดีที่สุด" นี่แหละ ที่นำมาซึ่งผลข้างเคียง นั่นคือ การผูกขาดจุดเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตโดยบริษัทโทรคมนาคม
20 ปีผ่านไป เรากลับพบว่า บริษัทเหล่านั้นแอบบันทึก วิเคราะห์ และส่งต่อข้อมูลการใช้งานอินเทอร์เน็ตของเราให้กับรัฐบาลภายใต้ข้ออ้างที่สุดแสนจะหวังดีอย่างเรื่อง “ความมั่นคง” เทคโนโลยีที่ถูกคาดหวังว่าจะนำมาซึ่งอิสรภาพกลับกลายเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้เพื่อรุกล้ำสิทธิเสรีภาพของประชาชนเสียเอง เมื่อพูดถึงความสำเร็จและล้มเหลวของเทคโนโลยี peer-to-peer เราคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดถึง Napster แพลตฟอร์มดาวน์โหลดเพลงแบบ peer-to-peer ที่ทำให้เพลงของวงดนตรีอย่าง Linkin Park แพร่ระบาดไปทั่วโลกอินเทอร์เน็ต ในยุคนั้น การดาวน์โหลดเพลงจาก Napster ถือเป็นเรื่องปกติ เหมือนกับการแชร์ไฟล์ mp3 ให้เพื่อนผ่าน MSN (โปรแกรทแชทคล้ายๆ กับ Line หรือ Facebook Messenger ในปัจจุบัน) ไม่มีผิด อัลบั้มแรกของ Linkin Park อย่าง Hybrid Theory ประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลาย มียอดขายถล่มทลายถึง 15 ล้านแผ่นภายในสามสัปดาห์แรก
Napster คือปรากฏการณ์ที่ปฏิวัติวงการเพลงอย่างแท้จริง และแน่นอนว่า มันสร้างความโกรธแค้นให้กับกลุ่มทุนอุตสาหกรรมเพลงเป็นอย่างมาก ในขณะที่ผู้คนสนุกสนานกับการแชร์เพลง ศิลปินหน้าใหม่อย่าง Arctic Monkeys, Dispatch หรือ Eminem ต่างก็สร้างฐานแฟนเพลงของตัวเองได้อย่างรวดเร็ว การมาถึงของ Napster สั่นคลอนอำนาจของกลุ่มทุนเดิม
ในที่สุด Metallica วงดนตรี Metal ชื่อดังก็ตัดสินใจฟ้องร้อง Napster ในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ เหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า เทคโนโลยีใหม่ๆ มักถูกต่อต้านจากกลุ่มผลประโยชน์เดิม
แม้ Napster จะถูกปิดไป แต่เทคโนโลยี peer-to-peer ก็ไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่ถูกกลืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยม จากการซื้อเพลงผ่าน iTunes สู่การฟังเพลงแบบ Streaming ผ่าน Spotify
ในปัจจุบัน ผู้ฟังเพลงส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเจ้าของเพลงที่ตัวเองฟังอีกต่อไป แต่เป็นเพียง "ผู้เช่า" ที่ต้องจ่ายเงินให้กับบริษัท Streaming โดยที่ศิลปิน ค่ายเพลง และผู้เกี่ยวข้องไม่ได้รับผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ กรณีที่ Spotify อัปเดตนโยบายความเป็นส่วนตัว โดยระบุว่าจะมีการแบ่งปันข้อมูลผู้ใช้งานให้กับบริษัทพันธมิตรกว่า 695 แห่ง นี่คือใบเบิกทางสู่ "ทุนนิยมแห่งการเฝ้าระวัง" ที่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ใช้ข้อมูลของเราเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลกำไร ปรากฏการณ์เช่นเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับ Google เช่นกัน จากจุดเริ่มต้นของบริการค้นหาข้อมูลที่เปรียบเสมือน "แผนที่" นำทางเราไปสู่ข้อมูลอันไร้ขอบเขตบนโลกออนไลน์ แต่ด้วยกลไกของทุนนิยม Google ค่อยๆ แปรสภาพกลายเป็นเครื่องมือหาผลกำไร ผลการค้นหาเต็มไปด้วยโฆษณา เว็บไซต์หลอกลวง และการบิดเบือนข้อมูล สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ Cory Doctorow นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ชาวแคนาดา เรียกมันว่า "Enshittification" เป็นคำที่ Cory Doctorow นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ ตั้งขึ้นเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ที่ แพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น Facebook, YouTube, Twitter ค่อยๆ "กลายเป็นสิ่งห่วยแตก" จากที่เคยเป็นพื้นที่เปิดกว้าง เต็มไปด้วยคอนเทนต์คุณภาพ กลับถูกทุนนิยมเข้าครอบงำ เต็มไปด้วยโฆษณา ข้อมูลบิดเบือน และการละเมิดความเป็นส่วนตัว
ครั้งแล้วครั้งเล่า ประวัติศาสตร์ได้สอนเราว่า ความเชื่อที่ว่า "เทคโนโลยีคือคำตอบสุดท้าย" เป็นความคิดที่อันตราย การเลือกเส้นทางที่คิดว่าสะดวกสบายในวันนี้อาจนำมาซึ่งหายนะในวันข้างหน้าก็เป็นได้ และก่อนที่เราจะรู้ตัว เราก็จะติดอยู่ในวังวนแห่งความล้มเหลวซ้ำซาก ไม่ต่างอะไรจาก "Groundhog Day" ที่เราต้องตื่นมาเจอกับวันเดิมๆ ความสำเร็จและความผิดพลาดแสนน่าเบื่อหน่ายที่วนลูปไม่รู้จบ
"มันเป็นที่ฟิลเตอร์โว้ย ไอ้โง่"
ในโลกของ Bitcoin วัฒนธรรมของการ "อวย" โดยปราศจากการตั้งคำถามกำลังแพร่ระบาดอย่างน่าเป็นห่วง
การจัดลำดับความสำคัญของคนเรานี่มันช่างน่าขันเสียจริง เมื่อ Lightning Network ใช้งานได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่เรากลับทุ่มเงินมหาศาลเพื่อผลักดันให้ดอลลาร์มาอยู่บน Bitcoin
เมื่อ Ordinals ปรากฏขึ้นบน Bitcoin จู่ๆ เราก็เพิ่งรู้ตัวว่ากำลังตกอยู่ในอันตราย ผู้คนในประเทศกำลังพัฒนาไม่สามารถทำธุรกรรม Bitcoin ได้ เหล่า Bitcoin Maximalist ที่พร่ำบอกให้คนทั่วไป DCA Bitcoin (ซื้อ Bitcoin เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ) กลับต้องเผชิญกับค่าธรรมเนียมที่สูงลิ่ว แม้แต่ CoinJoin เครื่องมือที่ช่วยอำพรางธุรกรรม ก็มีค่าใช้จ่ายแพงจนไม่สามารถใช้งานได้จริง ไม่ว่าจะมองไปทางไหน เราก็ยังคงเผชิญหน้ากับปัญหาการขยายขนาด ซึ่งปัญหาไม่ได้อยู่ที่ Ordinals แต่อยู่ที่ "ความไม่รู้" ของพวกเราเองต่างหาก
ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา เรามัวแต่หลงระเริงกับ Narrative ที่ว่า "Bitcoin คือที่สุด" "Bitcoin คือเงินที่ดีที่สุดในโลก" จนมองไม่เห็นปัญหาที่แท้จริง เมื่อ Ordinals เข้ามา เรากลับเลือกที่จะแก้ปัญหาที่ปลายเหตุด้วยการ "บล็อกมันสิ…จบ!" "มันเป็นที่ฟิลเตอร์โว้ย! ไอ้โง่" ซึ่งการบล็อก Ordinals เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นในระยะยาว หากเราต้องการให้ Bitcoin ถูกใช้อย่างแพร่หลายจริง การบล็อกข้อมูลบางประเภทไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา
การโทษ JPEGs บน Ordinals เป็นเรื่องง่าย แต่การยอมรับความจริงว่า Bitcoin ยังมีปัญหา เป็นเรื่องที่ยากกว่า พวกสาวก Bitcoin ที่ชอบพร่ำเพ้อว่า Bitcoin จะนำมาซึ่งสันติภาพของโลก ควรหันมาสนใจปัญหาเหล่นี้ที่เกิดขึ้นจริง โลกนี้ไม่ต้องการ "Bitcoin Hopium (พวกเมากาวบิตคอยน์)" สิ่งที่เราต้องการคือ "ทางออก" สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นจริง และเราต้องกล้าเผชิญหน้ากับความจริงที่ว่า "พวกเรากำลังเดินผิดทาง"
กอด รัด บีบคอ
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เรามักได้ยินคำกล่าวที่ว่า "Bitcoin ชนะแล้ว" “BlackRock ยอมรับ Bitcoin แล้ว” “ส.ว. คนนั้นคนนี้ ออกโรงสนับสนุน Bitcoin” ในความเป็นจริงสัญญาณแห่งชัยชนะเหล่านี้เป็นได้แค่ "ภาพลวงตา"
ความตายที่น่ากลัวที่สุดของ Bitcoin อาจไม่ใช่การล่มสลายของเทคโนโลยี แต่อาจมาในรูปแบบของ "การถูกกลืน" เข้าสู่ระบบเดิม
ประเด็นสำคัญที่นำไปสู่ความตายของ Bitcoin คือ "ปัญหาเรื่องการขยายขนาด" (Scalability) ย้อนกลับไป ณ จุดเริ่มต้น Gigablock ถูกเสนอขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว แต่ขนาดบล็อกที่ใหญ่ขึ้น หมายถึง ความต้องการทรัพยากรที่มากขึ้น ทำให้ Node รายย่อยไม่สามารถเข้าร่วมเครือข่ายได้
Lightning Network ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้แนวคิด "Scaling off-chain, securing on-chain" แต่ด้วยข้อจำกัดของเทคโนโลยี ทำให้ Lightning Network ยังไม่สามารถรองรับธุรกรรมจำนวนมหาศาลได้
น่าเสียดายที่ความจริงข้อนี้ไม่อาจหยุดยั้งเหล่า "อินฟลูเอนเซอร์" และสาวก Bitcoin จากการ "โยน Hail Mary" ครั้งแล้วครั้งเล่า พวกเขามองว่าปัญหาเรื่องการขยายขนาดเป็นเรื่องไกลตัว เป็นปัญหาของอนาคต พวกเขามัวแต่หลงระเริงกับชัยชนะจอมปลอม โดยลืมไปว่า การพัฒนาเทคโนโลยีที่ดี ต้องมาพร้อมกับการยอมรับความจริง
*Hail Mary: เป็นศัพท์ทางอเมริกันฟุตบอล หมายถึง การขว้างลูกไกลไปยังเขตแดนสุดท้ายในช่วงเวลาสุดท้ายของเกม โดยหวังว่าเพื่อนร่วมทีมจะสามารถรับลูกได้ แม้โอกาสจะริบหรี่ก็ตาม ซึ่งผู้เขียนกำลังวิจารณ์กลุ่มคนที่ยังคงเชื่อมั่นใน Bitcoin แบบ "สุ่มสี่สุ่มห้า" แม้ว่าจะมีข้อเท็จจริงหลายอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า Bitcoin กำลังมีปัญหา
6 ปีผ่านไป นับตั้งแต่ Lightning Network รุ่นแรกถูกเปิดตัว พวกเราก็ยังคงวนเวียนอยู่กับปัญหาเดิมๆ แทนที่จะเปิดใจกว้าง รับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย และร่วมกันหาทางออก พวกเรากลับเลือกที่จะ "ปิดกั้น" และ "ตีตรา" คนที่เห็นต่าง
ในอนาคตอันใกล้นี้ เราอาจโหยหาช่วงเวลาที่ค่าธรรมเนียม Bitcoin ยังมีราคาถูก แต่เมื่อถึงตอนนั้น ทุกอย่างก็อาจสายเกินไป เราอาจไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากใช้ Bitcoin ผ่านตัวกลาง Bitcoin แห่งอิสรภาพที่เราฝันถึงก็จะตายลง เว้นเสียแต่เราจะเลิกทำผิดซ้ำซากเสียที
- Tendou
ขอขอบคุณบทความจาก https://bitcoinmagazine.com/print/a-manual-guide-to-killing-bitcoin-the-eternal-return