-

@ Just So Be It
2024-07-20 07:00:00
ปะภัสสะรามิทัง ภิกขะเว จิตตัง อาคันตุเกหิ อุปักกิเลเสหิ อุปักกิลิฏฐัง... ซึ่งแปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนี้เป็นประภัสสร แต่ว่าจิตนี้เศร้าหมอง เพราะอุปกิเลสที่จรเข้ามา ดังนี้.
ข้อที่พระองค์ตรัสว่า จิตนี้เป็นประภัสสรนั้น ท่านทั้งหลายจะต้องฟังให้ดี ๆ ในการที่พระองค์ทรงใช้คำว่า ประภัสสร ไม่ได้ใช้คำว่า บริสุทธิ์ ไม่ได้ใช้คำว่า หลุดพ้น หรือไม่ได้ใช้คำอะไร ๆ นอกไปจากคำว่า ประภัสสร.
ทีนี้คำว่า ประภัสสร ในภาษาบาลี มาเป็นภาษาไทย ก็ยังใช้ทับศัพท์ว่า ประภัสสร อยู่นั่นเอง คงจะเนื่องจาก ไม่สามารถที่จะแปลเป็นภาษาไทยคำใดให้เหมาะสม เราจึงต้องใช้คำว่า ประภัสสร ไปตามเดิม บางคนอาจจะไม่รู้ว่าประภัสสรนั้นเป็นอย่างไร ถ้าเช่นนั้น ก็จะต้องถือเอาตามตัวหนังสือนั้น ประภัสสร มาจากคำว่า ประภา สะระ ประภา คือ แสง สะระ เออ, แล่นออก หรือแล่นไป ประภัสสร จึงแปลว่า มีแสงแล่นออกไป เมื่อเราเห็นสิ่งใดมีแสงเป็นรัศมี แล่นออกไปรอบตัว โชติช่วงอยู่ดังนั้น นั่นแหละ คือ อาการที่เป็นประภัสสร หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มีรัศมีซ่านออกไปรอบตัว เป็น เออ, แสงสว่าง อาการอย่างนี้ ตรงตามตัวหนังสือแท้ว่า ประภา สะระ หรือประภัสสร ที่ว่าจิตนี้เป็นประภัสสรนั้น หมายความว่า...มีแสง หรือเรืองแสงอยู่ในตัวมันเองโดยรอบด้าน ก็หมายความว่า มันไม่สกปรก มืดมัว เศร้าหมองแต่อย่างใด.
ทีนี้ ก็มีอุปกิเลสเกิดขึ้น มาจากเหตุปัจจัยอย่างใด อย่างหนึ่ง จากภายนอก เป็นเหมือนกับจรเข้ามา จากภายนอก เป็นอาคันตุกะ ทำให้จิตนั้นสูญเสียความเป็นประภัสสร เหมือนอย่างว่า เรามีเพชรเม็ดนึง แวววาว ส่องสว่างอยู่กลางแดด ถ้าเราเอาน้ำโคลนสาดเข้าไป รัศมีของเพชรนั้นมันก็ จะไม่ปรากฏ แต่แล้ว ท่านอย่าเพิ่งคิดไปว่ารัศมีนั้น สูญสิ้นไปเสียแล้ว ไม่ได้มีเหลืออยู่ ความจริงมันก็ต้องมีอยู่เท่าเดิม และตามเดิม หากแต่ว่าโคลนมันปิดบังเสีย ตาตามประสามนุษย์ก็มองไม่เห็น มันต้องมีตาพิเศษ ยิ่งกว่าตามนุษย์ จึงจะมองเห็นแสงเพชร ที่ทะลุโคลนออกมาได้ จิตนี้ก็เหมือนกัน เมื่อมีอุปกิเลสอย่างใด อย่างหนึ่ง นานาชนิด สรุปรวมเป็น...ความโลภ ความโกรธ ความหลง เกิดขึ้นแล้ว มันก็เป็นสิ่งปิดบังจิตนั้น ให้สูญเสียความเป็น ประภัสสร คือ ไม่ปรากฏแก่สายตา
ทีนี้ เราก็จะต้องคิดกันต่อไปว่า ทำอย่างไรจึงจะให้คงมี ความเป็นประภัสสร ปรากฏอยู่เป็นการ ถาวรได้ คำตอบง่าย ๆ ใคร ๆ พอจะมองเห็น ว่าก็กระทำอย่าให้มีกิเลสเกิดขึ้นก็แล้วกัน จิตนั้นก็เป็นประภัสสร อยู่ตลอดกาล เพราะฉะนั้น วิธีใดที่จะทำให้กิเลสไม่เกิดขึ้น แล้ววิธีนั้นแหละ คือ วิธีที่จะทำจิตนี้ ให้เป็น ประภัสสรตลอดกาล วิธีที่จะทำไม่ให้กิเลสเกิดขึ้นนั้น พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า อัฏฐังคิกมรรค คือ การกระทำที่ถูกต้องครบถ้วน ๘ ประการ รวมกันเป็นอันเดียวกันเรียกว่า มรรค มีความเห็นชอบ ความใฝ่ฝันชอบ พูดจาชอบ ทำการงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ มีสติตั้งไว้ชอบ มีสมาธิตั้งไว้ชอบ เป็นความชอบ หรือความถูกต้องรวมกัน ๘ ประการ เป็นมรรคตั้งอยู่ดังนี้แล้ว เรียกว่า มีการเป็นอยู่ชอบ เมื่อมีการเป็นอยู่ชอบดังนี้แล้ว กิเลสใด ๆ ก็ไม่อาจจะเกิดขึ้นมาได้ จิตนั้นก็ไม่มีอะไร ที่จะมาหุ้มห่อ ให้สูญเสียความเป็นประภัสสร.
ด้วยเหตุที่พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงแสดง อัฏฐังคิกมรรค คือ..มรรคมีองค์ ๘ ประการนั้น ในวันอาสาฬหปุรณมีนี้ ด้วยเหตุเช่นนี้เอง อาตมาจึงกล่าวว่า วันอาสาฬหบูชานี้คือ วันที่พระองค์ทรงประกาศ วิธีทำจิตให้เป็นประภัสสรอยู่ตลอดกาล เป็นสมุจเฉทปหานแก่กิเลสทั้งปวง ถ้าเราสามารถทำจิต เป็นจิตประภัสสรได้ตลอดกาลแล้ว ปัญหามันก็ไม่มีเหลืออยู่เลย จงพยายามทำความเข้าใจในเรื่องนี้ ว่า....จิตประภัสสรนั้น มันเป็นส่วนจิต ส่วนกิเลสนั้น มันเป็นแต่เพียงสิ่งที่เกิดขึ้นกับจิต ไม่ใช่ตัวจิต.
ส่วนตัวจิตนั้น คงเป็นประภัสสรตามธรรมชาติ ส่วนกิเลสนั้นเป็นสิ่งที่เกิดกับจิต เขาเรียกว่า เจตสิก เจตสิกเกิดขึ้นอย่างไร ก็ปรุงแต่งจิตไปในลักษณะเช่นนั้น เมื่อสูญเสียความเป็นประภัสสร ก็คือ สูญเสียสภาวะเดิมของมัน ด้วยอำนาจที่เจตสิกอย่างใด อย่างหนึ่ง เข้าไปปรุงแต่ง นี้เจตสิกนี้เกิดขึ้น จากสิ่งแวดล้อม ก็ตั้งต้นจากภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ กระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือซึมเข้าไปถึงใจ มันจึงเกิดการปรุงแต่ง เป็นสิ่งที่เรียกว่า เจตสิกได้ในที่สุด คือ กิเลสต่าง ๆ นั่นเอง.
-พุทธทาสภิกขุ