-
![](https://i.nostr.build/UR2O6VKwciozSwQl.png)
@ SOUP
2024-11-15 02:56:47
# นับตั้งแต่ต้นปีราคาสินค้าอุปโภคบริโภคพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไข่ไก่เบอร์ 3 ราคาพุ่งสูงขึ้น 30%, น้ำมันปาล์มขวดละ 50 บาท จากเดิมแค่ 40 บาท, ข้าวสารหอมมะลิกิโลกรัมละ 45 บาท จากเดิม 35 บาท, น้ำตาลทรายขาวกิโลกรัมละ 30 บาท จาก 25 บาท และอื่นๆ อีกมากมาย แต่รัฐบาลกลับประกาศว่า...
https://image.nostr.build/34756569b416b25f41509a9f4b7b6266a47eb6a66c1f4ba9517065215d647836.jpg
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่เพียง 0.62% เท่านั้น! เกิดอะไรขึ้น? ข้อมูลที่ขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิงนี้
ทำให้เราอดสงสัยไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเงินในกระเป๋าของเรา
## เคยสงสัยไหมครับว่าทำไมเงินเดือนถึงไม่พอใช้สักที ทั้งๆ ที่เงินเดือนขึ้นทุกปี?
คำตอบง่ายๆ ก็คือ เงินเดือนเราโตไม่ทันข้าวของที่แพงขึ้นยังไงล่ะครับ! และสิ่งที่ทำให้เกิดความสับสนงุนงงนี้ก็คือ "CPI" หรือดัชนีราคาผู้บริโภค ที่เรามักได้ยินกันบ่อยๆ เวลาที่พูดถึงเรื่องเงินเฟ้อ ซึ่งรัฐบาลมักจะนำมาอ้างเวลาขึ้นเงินเดือนหรือสวัสดิการ แต่ช้าก่อน! อย่าเพิ่งรีบวางใจ เพราะ CPI อาจไม่ได้สะท้อนความเป็นจริง และอาจเป็นแค่ภาพลวงตาทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลใช้หลอกลวงประชาชน
เรื่องของ CPI นี่ ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 เลยครับ ตอนนั้นเขาคิดค้นขึ้นมาเพื่อวัดค่าครองชีพของคนงานในโรงงาน แต่ปัจจุบันนี้มันกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้วัดค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นของประชาชนรวมถึงใช้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือแม้แต่การคำนวณเงินบำนาญ
## แล้ว CPI คืออะไร? แล้วมันหลอกลวงเรายังไง?
ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index:CPI) อธิบายง่ายๆ มันคือตะกร้ารวม สินค้าและบริการหลายชนิด ที่นำมาใช้คำนวณอัตราเงินเฟ้อ เพื่อดูว่าค่าครองชีพของประชาชนเพิ่มขึ้นเท่าไร คิดเป็นกี่ % เมื่อเทียบกับปีก่อน หลักการมันฟังดูดี ถ้าหากคำนวณอย่างตรงไปตรงมา ก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่ในเชิงปฏิบัติ มันมีความพยายามปกปิดความจริง
วิธีคำนวณ CPI ก็คือเขาจะไปดูราคาสินค้าใน "ตะกร้าสินค้า" ซึ่งรัฐบาลเป็นคนเลือกเองว่าจะเอาสินค้าอะไรใส่ลงไปในตะกร้าบ้าง โดยอ้างว่าสินค้าพวกนี้มันเป็นตัวแทนของสินค้าและบริการที่ "คนทั่วไป" ใช้จ่าย แต่ "คนทั่วไป" ในความหมายของรัฐบาลเนี่ย มันไม่ใช่เราๆ ท่านๆ ในชีวิตจริงหรอกนะครับ! เพราะในความเป็นจริง แต่ละคนมีรูปแบบการใช้จ่ายที่แตกต่างกัน บางคนอาจจะจ่ายค่าเช่าบ้านเยอะกว่าค่าอาหาร บางคนอาจจะต้องเดินทางบ่อยๆ บางคนอาจจะมีค่ารักษาพยาบาลเยอะ
การเลือกสินค้าใส่ในตะกร้า มันเลยขึ้นอยู่กับดุลพินิจของรัฐบาลเต็มๆ ซึ่งเป็นช่องโหว่ที่ทำให้รัฐบาลสามารถบิดเบือนตัวเลขได้ง่ายๆ แถม CPI มันยังไม่สนใจเรื่องเทคโนโลยีที่ทำให้สินค้าหลายๆ อย่างราคาถูกลงและมีประสิทธิภาพดีขึ้นด้วย เช่น คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน เพราะฉะนั้น CPI มันเลยไม่ได้สะท้อนค่าครองชีพที่แท้จริงของเราอย่างที่ควรจะเป็น หากรัฐบาลต้องการให้ตัวเลข CPI ดูดี พวกเขาก็แค่เอาสินค้าที่ราคาแพงขึ้นออกจากตะกร้า แล้วเติมสินค้าที่ราคาคงที่หรือถูกลงเข้าไปแทน ง่ายๆ แค่นี้ CPI ก็จะต่ำลงทันที แม้ว่าความเป็นจริง ราคาสินค้าโดยรวมจะแพงขึ้นก็ตาม
ยิ่งไปกว่านั้น หนึ่งในกลโกงที่แยบยลที่สุดของ CPI คือการเล่นแร่แปรธาตุกับสินค้าในตะกร้า โดยสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าที่เป็นวัตถุดิบในการผลิต หลายๆ อย่างมันคือ "สิ่งเดียวกัน" แต่มันกลับถูกโยกออกไปจากตะกร้า CPI หลัก เพื่อทำให้ตัวเลข CPI ต่ำลง ยกตัวอย่างเช่น บ้าน มันควรจะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค เพราะคนเราซื้อบ้านมาเพื่ออยู่อาศัย แต่มันกลับถูกโยกไปเป็น "สินทรัพย์เพื่อการลงทุน" แทน ซึ่งการลงทุนมันควรจะสร้างรายได้ แต่บ้านที่เราซื้อมาอยู่เอง มันไม่ได้สร้างรายได้อะไร กลับมีแต่ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา การที่ไม่เอาราคาบ้านมารวมในการคำนวณ CPI มันก็เลยทำให้ตัวเลขต่ำกว่าความเป็นจริง ทั้งๆ ที่ราคาบ้านเป็นส่วนสำคัญของค่าครองชีพของคนส่วนใหญ่
มองแบบโลกสวยก็พอเข้าใจ ว่าถ้าเอาราคาบ้านที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8% ต่อปี มารวมอยู่ในตะกร้า ยอดตัวเลขเงินเฟ้อคงพุ่งขึ้นสูง จนอาจทำให้ประชาชนใจสั่นกินไม่ได่นอนไม่หลับ ดังนั้น จึงขอเอาแค่ราคา “ค่าเช่า” มาคำนวณก็พอ แล้วตัวเลขค่าเช่าคือเท่าไหร่ รู้ไหมครับ?
4,000 บาท คือตัวเลขค่าเช่าบ้านเฉลี่ยที่นำมาคำนวณ ดูแล้วก็ไม่ได้ต่ำอะไรนักหนานะครับ แต่จะบอกว่า 4,000 บาทนี้ คือ ตัวเลขกลมๆ ที่รวมทั้ง ค่าเช่าบ้าน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการซ่อมแซ่มและดูแลบ้านเรือน ค่าน้ำค่าไฟ ค่าก๊าซหุงต้ม ค่าข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้าน คิดว่ามันสมเหตุสมผลมั้ยครับ?
หรืออย่างราคาพลังงาน เช่น น้ำมัน ที่เป็นต้นทุนสำคัญในการผลิตสินค้าและบริการแทบทุกชนิด การที่ราคาพลังงานสูงขึ้น มันย่อมส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าอื่นๆ ทั้งหมด แต่มันก็มักจะถูกแยกออกไปต่างหาก หรือใส่ค่าถ่วงน้ำหนักให้มันน้อยๆ เพื่อกดตัวเลขเงินเฟ้อให้ต่ำที่สุด ตัวเลขเงินเฟ้อที่ประกาศออกมาจึงต่ำกว่าความเป็นจริงไปไกลเสมอ มันไม่ได้สะท้อนต้นทุนค่าครองชีพที่แท้จริงในชีวิตชีวิตประจำวันที่ผู้คนต้องแบกรับเพิ่ม
เวลาเงินเฟ้อ ราคาของแพงขึ้นจริง แต่มันไม่ได้แปลว่าเราจะใช้เงินมากขึ้นตามเสมอไปนะครับ มันมีเงินเฟ้อที่ซ่อนมาในคราบ "ลดปริมาณและคุณภาพ" ของกินราคาเดิมแต่ปริมาณน้อยลง ของใช้ราคาเดิมแต่คุณภาพห่วยลง
สำหรับคนทั่วไปงบอาหารการกินเรามีจำกัด เมื่อของที่กินประจำมันแพงขึ้นจนจ่ายไม่ค่อยไหว เราก็ต้องหันไปกินของคุณภาพต่ำลงเพื่อประหยัดเงิน เช่น จากที่เคยกินสเต๊กเนื้อริบอาย ก็ต้องเปลี่ยนมากินเนื้อบด กินสเต๊กหมู แพงอีกก็ต้องไปกินไก่กินปลาแทน จ่ายเงินเท่าเดิมแต่กลับได้อาหารที่คุณภาพต่ำลงเรื่อยๆ เหมือนที่ Weston A. Price เคยบันทึกไว้ตอนที่เขาศึกษาเรื่องอาหารกับสุขภาพของชนเผ่าต่างๆ ทั่วโลก CPI มันไม่ได้บอกเราเลยว่าคุณภาพชีวิตของเรามันแย่ลง เพราะเราต้องซื้อของที่คุณภาพต่ำลง ลองนึกภาพดูสิครับ เราต้องย้ายไปอยู่บ้านที่เล็กกว่าเดิม ซื้อรถรุ่นเก่าๆ หรือซื้อเสื้อผ้าราคาถูกแต่คุณภาพแย่ เพราะของมันแพงขึ้น แต่ CPI กลับบอกว่าเงินเฟ้อขึ้นนิดเดียว เห็นไหมครับว่ามันต่างจากสิ่งที่เราเจอในชีวิตประจำวันลิบลับเลย หรือพูดง่ายๆ ว่า ทุกคนจำเป็นต้องทำงานหนักขึ้น หาเงินให้ได้มากขึ้นเรื่อยๆ เพียงเพื่อที่จะรักษาคุณภาพชีวิตเอาไว้ให้ได้เท่าๆ เดิม
ที่สำคัญที่สุด CPI มันยังไม่สนใจความแตกต่างของราคาสินค้าในแต่ละพื้นที่ด้วย CPI คำนวณจากราคาสินค้าในบางพื้นที่ ทำให้ไม่สามารถสะท้อนถึงความแตกต่างของราคาสินค้าในแต่ละพื้นที่ได้อย่างแม่นยำ มันจึงไม่สามารถนำมาใช้เป็นมาตรฐานในการวัดค่าครองชีพของคนทั้งประเทศได้ และที่แย่ไปกว่านั้น CPI มันไม่ได้เป็นวิทยาศาสตร์อย่างที่หลายคนเข้าใจผิด แต่มันคือ **"วิทยาศาสตร์เทียม"** เพราะการวัดค่า CPI มันขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของรัฐบาลล้วนๆ ไม่มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัว ในขณะที่การวัดผลทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง มันต้องมีหน่วยวัดที่ชัดเจน มีขอบเขตที่แน่นอน และตรวจสอบได้ เหมือนกับการวัดระยะทางหรือการชั่งน้ำหนัก แต่วิธีการคำนวน CPI มันกลับพยายามวัดราคาสินค้าเป็นดอลลาร์ ทั้งๆ ที่ค่าของเงินดอลลาร์มันก็ไม่แน่นอน และรัฐบาลก็พิมพ์เงินออกมาเพิ่มเรื่อยๆ มันก็เหมือนกับการพยายามวัดระยะทางด้วย**ไม้บรรทัดที่ยืดได้หดได้**นั่นแหละ
ดังนั้น CPI จึงเป็นเพียงภาพลวงตาที่รัฐบาลสร้างขึ้นเพื่อบิดเบือนความเป็นจริงทางเศรษฐกิจ เขากำลังบอกเราว่าต้นทุนการใช้ชีวิตของเรามันแทบไม่เพิ่ม เงิน 100 บาทมันซื้อของได้น้อยลงไม่ถึง 1 บาทในแต่ละปี คำถามคือ คุณกำแบงก์ร้อยไปตลาดสดหรือซุเปอร์มาร์เก็ตในปีก่อนกับเร็วๆ นี้ มันก็ซื้อข้าวของได้เท่าๆ เดิม?
ซึ่งคำลวงเหล่านี้มันส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจทางการเงินของเรา ตั้งแต่การซื้อของใช้ประจำวัน ไปจนถึงการลงทุนระยะยาว และยังเป็นเครื่องมือที่รัฐบาลใช้ในการควบคุม แทรกแซง ผู้อ่านไม่จำเป็นต้องเชื่อในสิ่งที่ผมเล่าไป อยากให้พิสูจน์ด้วยตัวท่านเอง มันถึงเวลาแล้วที่เราต้องเริ่มตั้งคำถาม เสาะหาความจริงกับหลายๆ เรื่องที่รัฐบอกเรา โดยเฉพาะเงินเฟ้อที่เราทุกคนต้องเผชิญมันต่ำกว่า 1% จริงๆ เหรอ