-
@ HereTong
2025-04-14 03:32:56หรือต้นน้ำของปัญหาจะเป็น UPOV 1991?
เมื่อพูดถึงสิทธิในเมล็ดพันธุ์ หลายคนอาจนึกถึงแค่เรื่องเกษตรกรรมพื้นบ้านหรือพันธุ์พื้นเมืองที่ใช้สืบต่อกันมาในครอบครัว แต่ความจริงแล้ว ในโลกเบื้องลึกของการค้าระหว่างประเทศ มีข้อตกลงที่เปลี่ยน "เมล็ดพันธุ์" ให้กลายเป็น "ทรัพย์สินทางปัญญา" และอาจเปลี่ยนเกษตรกรให้กลายเป็นผู้ละเมิดลิขสิทธิ์โดยไม่รู้ตัว... นั่นคือ UPOV 1991
UPOV (ยูพอฟ) หรือ International Union for the Protection of New Varieties of Plants คือองค์กรที่เริ่มต้นขึ้นในยุโรปตั้งแต่ปี 1961 โดยมีเจตนาดีในช่วงแรก คือคุ้มครองนักปรับปรุงพันธุ์พืช ให้มีแรงจูงใจในการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆ แต่เมื่อระบบทุนนิยมเข้ามาขับเคลื่อนกลไกเกษตรอุตสาหกรรม ข้อตกลงฉบับ UPOV 1991 จึงกลายร่างเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดในการผูกขาดพันธุกรรมของพืช
UPOV 1991 คือชื่อย่อของ อนุสัญญาสหภาพเพื่อคุ้มครองพันธุ์พืช ฉบับปี 1991 (International Convention for the Protection of New Varieties of Plants – 1991 Act) ซึ่งเป็นหนึ่งในกฎหมายระหว่างประเทศที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกเรื่อง “สิทธิในเมล็ดพันธุ์” คล้ายกับลิขสิทธิ์สำหรับนักปรับปรุงพันธุ์พืช (Plant Breeders' Rights) และถือว่าเป็นเวอร์ชันที่ “โหดสุด” สำหรับเกษตรกรรายย่อยและประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับฉบับเก่าอย่าง UPOV 1978
หนึ่งในบทบัญญัติที่อันตรายที่สุดของ UPOV 1991 คือการห้ามเกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกในฤดูกาลถัดไป (farm-saved seeds) โดยเฉพาะหากพันธุ์นั้นได้รับการจดทะเบียนในระบบของ UPOV แล้ว ซึ่งหมายความว่า แม้ชาวนาจะซื้อเมล็ดมาปลูกบนที่ดินของตัวเอง ดูแลด้วยสองมือจนได้ผลผลิต พอเก็บเมล็ดไว้ปลูกต่อปลูกซ้ำ กลับกลายเป็นว่าละเมิดสิทธิของเจ้าของพันธุ์เสียอย่างนั้นและโดนฟ้องได้
รวมถึงห้ามนำเมล็ดไปแลกเปลี่ยนหรือแจกจ่ายให้คนอื่น แม้แต่การแบ่งเมล็ดให้เพื่อนบ้าน ก็อาจถือว่าละเมิดสิทธิ์ของเจ้าของพันธุ์ได้
พูดง่ายๆคือ มันคือการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ธรรมชาติ ให้กลายเป็นซอฟต์แวร์ ที่ต้องซื้อ license ใหม่ทุกปี
ไม่เพียงเท่านั้น UPOV 1991 ยังขยายขอบเขตการคุ้มครองไปถึง "พืชลูกหลาน" ที่สืบทอดลักษณะทางพันธุกรรมของพันธุ์ต้นแบบ แม้เกษตรกรจะเพาะปลูกและคัดเลือกสายพันธุ์ต่อยอดเอง แต่หากลักษณะสำคัญยังใกล้เคียงกับพันธุ์ดั้งเดิม ก็ยังถือว่าละเมิดอยู่ดี
นี่จึงเปิดทางให้บริษัทใหญ่ระดับโลก เช่น Monsanto (ปัจจุบันกลืนรวมกับ Bayer) มีสิทธิครอบครองสายพันธุ์พืชแบบเกือบเบ็ดเสร็จ และเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์จากเกษตรกรายปีได้
ลองจินตนาการดูว่า หากวันหนึ่งทุกผักในตลาด ไม่ว่าจะเป็นข้าว ข้าวโพด พริก มะเขือ หรือแม้แต่บรอกโคลี เป็นสายพันธุ์ที่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ทุกปี เกษตรกรจะยังมีอิสระในการเพาะปลูกอยู่หรือไม่?
ประเทศไทยเอง แม้ยังไม่เข้าร่วม UPOV 1991 อย่างเป็นทางการ แต่ก็เผชิญแรงกดดันจากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) และกลุ่มทุนต่างชาติให้แก้ไขกฎหมายภายใน เช่น ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช ที่เคยถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าเลียนแบบ UPOV 1991 แทบทุกบรรทัด
ในขณะที่โลกกำลังพูดถึง "Seed Sovereignty" หรืออธิปไตยของเมล็ดพันธุ์ การรักษาสิทธิของเกษตรกรในการเก็บ แลกเปลี่ยน และปรับปรุงพันธุ์พืชโดยไม่ถูกผูกขาดด้วยระบบลิขสิทธิ์ UPOV 1991 กลับทำหน้าที่ตรงข้ามอย่างสิ้นเชิง
มันไม่ใช่แค่ข้อตกลงที่เขียนด้วยภาษากฎหมาย แต่มันคือกรงขังที่มองไม่เห็น ที่ล็อกเกษตรกรเอาไว้กับพันธุ์พืชที่พวกเขาไม่ได้เป็นเจ้าของ แม้จะปลูกมันเองกับมือก็ตาม
ทางออกเดียวอาจไม่ใช่แค่การไม่เข้าร่วม UPOV 1991 แต่คือการกลับมาสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ ระบบที่ให้สิทธิ์กับผู้ปลูกอย่างแท้จริง ไม่ใช่ระบบที่ให้อำนาจแค่กับผู้จดทะเบียน
แล้วอะไรจะเป็น right exit? #pirateketo #กูต้องรู้มั๊ย #ม้วนหางสิลูก