-
@ GaLoM ₿maxi
2025-05-14 03:06:03สิ่งสำคัญเหนือสิ่งใด—ความสำเร็จในสงครามขึ้นอยู่กับการมีทรัพย์มากพอที่จะจัดหาได้ทุกสิ่งที่ภารกิจต้องการได้หรือไม่ — โรเบิร์ต เดอ บัลซัค, ค.ศ. 1502
บทนี้เริ่มต้นด้วยการอธิบายว่าในโลกยุคแห่งความรุนแรง การคว้าชัยในสงครามไม่ได้ขึ้นกับอุดมการณ์เท่านั้น แต่อยู่ที่การระดมทรัพยากรได้มากพอ ซึ่งรัฐชาติสมัยใหม่คือโครงสร้างที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์ในการดึงทรัพยากรจากประชาชนมาสนับสนุนการใช้อำนาจรุนแรงอย่างเป็นระบบ
ผู้เขียนเปรียบเทียบสองเหตุการณ์สำคัญ คือการทำลายกำแพงเมืองซานจิโอวานนีในปี 1495 กับการทลายกำแพงเบอร์ลินในปี 1989 โดยเหตุการณ์แรกเป็นจุดเริ่มต้นของยุคแห่งผลตอบแทนสูงจากความรุนแรง (Gunpowder Revolution) ส่วนเหตุการณ์หลังคือสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดของยุคอุตสาหกรรมและเป็นการเริ่มต้นของยุคสารสนเทศที่ผลตอบแทนจากการใช้ความรุนแรงกำลังลดลงอย่างเห็นได้ชัด
ความแตกต่างสำคัญของสองกำแพงนี้คือ กำแพงซานจิโอวานนีถูกสร้างเพื่อป้องกันภัยจากภายนอก ขณะที่กำแพงเบอร์ลินถูกสร้างขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้คนภายในหลบหนีออกไป—สะท้อนถึงรัฐที่ควบคุมประชาชนอย่างเข้มงวดและมีอำนาจอย่างล้นเหลือ
ในบริบทของยุคสารสนเทศ เมื่อผลตอบแทนจากการใช้ความรุนแรงลดลง รัฐชาติก็เริ่มถูกมองว่าเป็นองค์กรที่กดขี่รีดไถมากกว่าจะเป็นผู้คุ้มครอง ผู้มีความรู้และผู้มั่งคั่งจะหาทางหลบหนีออกจากการควบคุมของรัฐ เช่นเดียวกับที่รัฐบาลพยายามสกัดกั้นการหลบหนีของทุน ด้วยนโยบายอย่าง ภาษีการสละสัญชาติ ของประธานาธิบดีคลินตันในปี 1995 ซึ่งเปรียบได้กับ “กำแพงเบอร์ลินสำหรับเงินทุน”
ผู้เขียนชี้ว่าการเก็บภาษีสูงในกลุ่มประเทศ OECD(The Organization for Economic Co-operation and Development) นั้นแม้จะเป็นข้ออ้างเพื่อค้ำจุนรัฐสวัสดิการ แต่ในความจริง คนรวยมักไม่ได้รับผลประโยชน์จากรัฐสวัสดิการในสัดส่วนที่สมเหตุสมผลกับภาษีที่จ่ายไป และในยุคสารสนเทศ การจัดเก็บภาษีผูกขาดจะยิ่งทำได้ยากขึ้นทุกที
ผู้เขียนวิเคราะห์อายุขัยของรัฐชาติ โดยระบุว่ายุคของรัฐชาติเป็นเพียงช่วงเวลาราว 200 ปี นับจากการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789 ถึงการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินในปี 1989 ก่อนหน้านั้น การปกครองแบบรัฐชาติไม่ใช่เรื่องปกติ ส่วนใหญ่เป็นระบบเผด็จการแบบตะวันออกที่พึ่งการควบคุมระบบชลประทาน แต่การปฏิวัติดินปืนทำให้รัฐสามารถควบคุมและขยายอำนาจออกไปนอกโครงสร้างชลประทานได้ รัฐขนาดใหญ่ที่มีทรัพยากรมากจะได้เปรียบในการทำสงครามมากกว่ารัฐที่มีประสิทธิภาพในการผลิตแต่มีขนาดเล็ก สงครามเย็นจึงไม่ใช่แค่การต่อสู้ระหว่างอุดมการณ์ แต่คือการเผชิญหน้าระหว่างสองระบบที่สามารถระดมทรัพยากรได้ดีที่สุดในยุคอุตสาหกรรม ได้แก่ คอมมิวนิสต์ที่ใช้การควบคุมจากศูนย์กลาง กับประชาธิปไตยแบบรัฐสวัสดิการที่ใช้ประชาธิปไตยและชาตินิยมเป็นเครื่องมือสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนยินยอมให้รัฐใช้ทรัพยากรของตนเองในการทำสงคราม
บทนี้จึงชี้ให้เห็นว่า ทั้งคอมมิวนิสต์และประชาธิปไตยอาจมีอุดมการณ์ตรงข้ามกัน แต่กลับมีโครงสร้างการระดมทรัพยากรที่คล้ายกันในแง่การเป็น ยุทธศาสตร์ทางทรัพยากร ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในโลกแห่งความรุนแรง แต่ในยุคใหม่ที่ผลตอบแทนจากความรุนแรงลดลง ระบบเหล่านี้ก็อาจกำลังเข้าสู่ปลายทางของมัน
สามารถไปติดตามเนื้อหาแบบ short vdo ที่สรุปประเด็นสำคัญจากแต่ละบท พร้อมกราฟิกและคำอธิบายกระชับ เข้าใจง่าย ได้ที่ TikTok ช่อง https://www.tiktok.com/@moneyment1971