-

@ HereTong
2025-04-04 02:50:35
หลังจากที่เราเพิ่งเปิดเรื่องไฟโตสเตอรอลไปหมาด ๆ ถึงเวลาที่ต้องมาคุยกันเรื่อง oryzanol ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสารที่ถูกอุตสาหกรรมผลักดันให้เรารู้สึกว่า “ต้องกิน” เหมือนเป็นไอเทมลับสำหรับสุขภาพหัวใจ แต่เดี๋ยวก่อนนะ ทำไมสิ่งที่มนุษย์ไม่เคยต้องการมาก่อนถึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นไปได้ ?
Oryzanol หรือ gamma-oryzanol เป็นสารประกอบที่พบได้ในน้ำมันรำข้าว มีโครงสร้างเป็น sterol ester ของกรดเฟอรูลิก (Ferulic acid esters of sterols and triterpenes) ซึ่งหมายความว่ามันมีโครงสร้างคล้ายกับไฟโตสเตอรอล แต่มาพร้อมกับองค์ประกอบของสารต้านอนุมูลอิสระที่ได้จากกรดเฟอรูลิก นั่นทำให้มันถูกโฆษณาว่าเป็นสารที่ช่วยลดคอเลสเตอรอล มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และอาจช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจ ฟังดูดีใช่ไหม ? แต่มันก็คล้ายกับไฟโตสเตอรอลเลย คือเป็นสารที่ แข่งขันกับคอเลสเตอรอลในการดูดซึม และแน่นอนว่าผลข้างเคียงก็ยังคงอยู่ นั่นคือ มันอาจลดการดูดซึมวิตามิน A, D, E, K ซึ่งเป็นวิตามินที่ละลายในไขมันและจำเป็นต่อร่างกาย นั่นหมายความว่า ในขณะที่มันช่วยลด LDL ในกระดาษ มันอาจทำให้ร่างกายขาดสารอาหารที่สำคัญไปด้วย
ปัญหาที่ใหญ่กว่าคือ oryzanol พบมากใน น้ำมันรำข้าว ซึ่งเป็นหนึ่งในน้ำมันพืชที่ผ่านการแปรรูปสูง และการบริโภคน้ำมันพืชมากเกินไปนั้นสัมพันธ์กับ ภาวะอักเสบเรื้อรัง (chronic inflammation), ภาวะต้านอินซูลิน (insulin resistance), และความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด การที่อุตสาหกรรมบอกให้เราเพิ่ม oryzanol ในอาหาร จึงเป็นเหมือนการผลักให้ผู้คนบริโภคน้ำมันพืชมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว ทั้งที่น้ำมันพืชโดยเฉพาะที่ผ่านกรรมวิธีอย่างน้ำมันรำข้าวมีปริมาณโอเมก้า-6 สูง ซึ่งถ้ารับมากเกินไปจะไปกระตุ้นกระบวนการอักเสบในร่างกาย เคยสังเกตไหมครับว่า น้ำมันรำข้าวมักโชว์ตัวเลขเก๋ๆของ Oryzanol แต่กลับไม่โชว์สัดส่วน โอเมก้า 6 กับ โอเมก้า 3
เทียบง่ายๆครับ
น้ำมันคาโนลา มีโอเมก้า 6 ราวๆ 2200 - 2800 ต่อน้ำมัน 15 มล. (หน่วยบริโภค)
น้ำมันรำข้าว มีโอเมก้า 6 ราวๆ 4,140 - 5,520 มก. ต่อน้ำมัน 15 มล. (หน่วยบริโภค)
ในขณะที่โอเมก้า 3 ราวๆ 138 - 276 มก.ต่อน้ำมัน 15 มล. (หน่วยบริโภค)
นี่หมายถึงสัดส่วนสูงไปถึงได้ราวๆ 40:1 ทั้งๆที่เราเข้าใจแหละว่าโอเมก้า6 ร่างกายจำเป็น แต่แต่แต่ จำเป็นไม่ได้หมายความว่าจัดหนัก เพราะสิ่งที่เราต้องพึงสังวรคือ สัดส่วนที่สมดุลระหว่าง โอเมก้า3และโอเมก้า6 ดังนั้น 40:1 ไม่เรียกว่าสมดุล ซึ่งจะกระตุ้นการอักเสบเรื้อรัง ในร่างกาย และเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ เบาหวาน และปัญหาสุขภาพอื่นๆ พาเหรดกันมา
แต่คุณจะไม่เห็นตัวเลขนี้บนฉลากครับ
ผู้ผลิตผิดไหม?
จะไปผิดอะไรครับ หน่วยบริโภคแนะนำเขา 1 หน่วยบริโภคคือ 15 มิลลิลิตร หรือ 1 ช้อนโต๊ะ แค่นั้นเอง
คำถามคือ มีใครใช้ตามนั้นบ้าง คุณเจียวไข่เจียวใช้เท่าไร ผัดข้าวผัดใช้เท่าไหร่ อ่ะ ผัดผักรวมมิตรก็ได้ เอาแบบเต็มเปี่ยมเลย รู้ไหมว่ามีหลายคนเอาไปทำน้ำสลัด OMG
ผมถึงบอกอยู่ครับว่า คุณอย่าไปว่าผู้ผลิตเลย เขาปกป้องตัวเองไว้เรียบร้อยทุกมุมอยู่แล้วครับ ถ้าเรายังไม่อ่านฉลาก ซื้อเครื่องไฟฟ้าไม่เคยดูคู่มือ เซนต์สัญญาแบบไม่อ่านก่อน คุณจะว่าใครจริงไหมครับ
ที่น่าสนใจกว่านั้นคือเราเข้าใจกันแล้วใช่ไหมว่า oryzanol ไม่ได้มาจากการกินรำข้าวตรง ๆ แต่ต้องผ่านกระบวนการสกัดที่ซับซ้อนเพื่อได้น้ำมันมาใช้ และวิธีที่อุตสาหกรรมใช้มากที่สุดก็คือ การสกัดด้วยเฮกเซน (Hexane Extraction) ซึ่งเป็นตัวทำละลายเคมีที่อาจมีสารตกค้างในผลิตภัณฑ์สุดท้าย ถึงแม้จะมีวิธีอื่นที่ปลอดภัยกว่า เช่น การสกัดด้วยเอทานอล (Ethanol Extraction), การสกัดด้วยเอนไซม์ (Enzyme-Assisted Extraction), หรือการสกัดด้วยคาร์บอนไดออกไซด์เหนือวิกฤต (Supercritical CO₂ Extraction) แต่ทั้งหมดนี้มีต้นทุนสูงกว่า ทำให้ไม่เป็นที่นิยมในอุตสาหกรรม นั่นหมายความว่า ถ้าผลิตภัณฑ์ที่คุณซื้อไม่ได้ระบุว่าใช้วิธีอื่น ส่วนใหญ่ก็คือเฮกเซนแน่นอน
ข้อเสียของการบริโภค oryzanol มากเกินไปไม่ได้จบแค่การขัดขวางการดูดซึมวิตามิน เพราะการบริโภคในปริมาณสูงอาจส่งผลให้เกิด ความไม่สมดุลของฮอร์โมน เนื่องจาก oryzanol มีโครงสร้างคล้ายกับสเตอรอลในร่างกาย มันอาจไปรบกวนกระบวนการเผาผลาญของสเตอรอยด์ฮอร์โมน เช่น ฮอร์โมนเพศชาย (Testosterone) และฮอร์โมนความเครียด (Cortisol) ซึ่งในระยะยาวอาจส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน อารมณ์ และระดับพลังงานของร่างกาย
ประเด็นที่สำคัญคือ ในเมื่อเรามีอาหารจากธรรมชาติที่ช่วยบำรุงหัวใจได้โดยไม่ต้องมีผลข้างเคียง เช่น ไขมันสัตว์ดี ๆ ที่มีวิตามิน A, D, E, K ครบถ้วน ทำไมต้องพึ่งพาสารสกัดจากอุตสาหกรรม ? สิ่งที่ดูเหมือนดีจากงานวิจัยในแล็บ อาจไม่ได้ดีในระยะยาวเมื่ออยู่ในร่างกายมนุษย์จริง ๆ
ทีนี้เรามาดูจุดขายของ น้ำมันรำข้าวกัน
- oryzanol เป็นสารธรรมชาติ ทนความร้อนสูง เอาไปใช้ทอดจะไม่เกิดการสลายตัว
ทนความร้อนสูงนี่จริงเลยครับ โอริซานอลเป็นสารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่ม Ferulic Acid Esters ซึ่งมีโครงสร้างเสถียรกว่าวิตามินอี (เทียบกับวิตามินอีเพราะ ต้านอนุมูลอิสระ และ การปกป้องไขมันจากการเกิดออกซิเดชัน ) มี จุดสลายตัวสูงกว่า 250°C ซึ่งทำให้ยังคงอยู่ได้ในอุณหภูมิที่ใช้ทอดอาหาร แล้วมันแปลว่าดีจริงไหม? ในขณะที่ น้ำมันรำข้าวมีโอเมก้า-6 สูงมาก (30-40%) ซึ่งไวต่อการเกิดออกซิเดชัน ถึงแม้โอริซานอลจะช่วยชะลอการเหม็นหืน แต่มันไม่ได้ช่วยลดการเกิด สารพิษจากไขมันไหม้ เช่น Aldehydes หรือ HNE (4-Hydroxy-2-nonenal) ที่มาจากโอเมก้า-6 หรือเปล่า???
มันคือการพูดให้เราไปโฟกัสจุดเดียวครับ "โอริซานอลทนร้อน ไม่ได้แปลว่า น้ำมันรำข้าวดีต่อสุขภาพ" เพราะโอเมก้า6 ที่ไวต่อการเกิดออกซิเดชัน รวมถึงวิตามินต่างๆ ก็ยังสูญสลายไปด้วยความร้อน นี่ยังไม่รวมถึงโทษของการกินโอริซานอลมากไปตามที่ให้ข้อมูลไว้ข้างบนด้วย
นอกจากนี้ยังมีคนตั้งคำถามไว้มากมายว่า หากโอริซานอลมีผลชัดเจนต่อสุขภาพเช่นเดียวกับที่โฆษณา ทำไมจึงไม่ได้รับการพัฒนาเป็นยาอย่างจริงจัง? หรือคำตอบคือ งานวิจัยที่สนับสนุนโอริซานอลยังไม่เพียงพอ และในหลายกรณี ผลของมันอาจเกิดจาก Placebo Effect (ผลจากความเชื่อว่ามันได้ผล มากกว่าผลจริงๆ ของสารนั้น) ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับ "ยาหลอก" ที่ไม่ได้มีฤทธิ์ทางชีวเคมีที่ส่งผลชัดเจน
- มีไลโนเลอิกสูง
ใช่ครับไม่ผิดเลยในจุดนี้ ไลโนเลอิก (Linoleic acid) เป็น กรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดหลายพันธะ (Polyunsaturated Fatty Acid, PUFA) ที่สำคัญและจำเป็นสำหรับร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการช่วยบำรุงเซลล์และระบบต่างๆ ของร่างกาย ที่สำคัญคือ ไลโนเลอิกเป็นกรดไขมันในกลุ่ม โอเมก้า-6 เป็นสิ่งที่บอกกับเราชัดๆว่า โอเมก้า6 สูงนั่นเอง ถ้าจะดึงเฉพาะข้อดีมาคุยกันก็ไม่ผิดอะไรเลยครับ เพราะโอเมก้า6 สำคัญกับร่างกายจริงๆ แต่ แต่ แต่ การรับโอเมก้า-6 ในปริมาณสูงเกินไปอาจทำให้เกิดการอักเสบในร่างกาย ซึ่งเกี่ยวข้องกับโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน อย่างที่เรารู้กัน ดังนั้นที่บอกไว้ข้างบนครับ สัดส่วนโอเมก้า 6:3 คือ 40:1 หรือใน 1 ช้อนโต๊ะ มีโอเมก้า 6 สูงถึง ราวๆ 4,140 - 5,520 มก. เรียกว่าโฆษณาไม่ผิดเลยเรื่องปริมาณ แต่จริงๆแล้วเราควรรักษาสมดุล โอเมก้า 6:3 ให้ใกล้เคียง 1:1 มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เราก็อาจต้องตั้งคำถามอีกทีว่า การมีไลโนเลอิกสูง มันดีจริงไหม
- โทโคฟีรอล (Tocopherols)
เป็นสารประกอบที่อยู่ในกลุ่ม วิตามินอี เป็นสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย โดยช่วยปกป้องเซลล์จากความเสียหายจากอนุมูลอิสระและช่วยชะลอการเสื่อมของเซลล์ ถูกต้องตามโฆษณา จริงๆหน้าที่หลักคือปกป้องไขมันไม่ให้เกิดการออกซิเดชัน ซึ่งสามารถช่วยยืดอายุการใช้งานของน้ำมัน หรือไม่ให้เกิดการหืน นั่นเอง แต่การทอดหรือปรุงอาหารในอุณหภูมิสูงเกินไป ก็อาจทำให้น้ำมันเกิดการออกซิเดชันและเกิดสารพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้ อย่าลืมนะครับว่าคำแนะนำในการใช้น้ำมันรำข้าว กลับชูการเหมาะกับอาหารทอดอุณหภูมิสูง
- โทโคไทรอีนอล (Tocotrienols)
เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม วิตามินอี เช่นกัน การบริโภคมากเกินไป การรับประทาน โทโคไทรอีนอลในปริมาณมาก อาจมีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ส่งผลกระทบต่อการดูดซึมวิตามินอื่นๆ ในร่างกายโดยเฉพาะวิตามิน K ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาการแข็งตัวของเลือด, ทำให้ตับทำงานหนักขึ้นในการจัดการกับสารนี้ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อการทำงานของตับระยะยาว
สุดท้ายแล้ว เราต้องกลับมาตั้งคำถามว่า เราอยากให้สุขภาพของเราถูกกำหนดโดยการตลาดของอุตสาหกรรม หรือโดยสิ่งที่ธรรมชาติออกแบบมาให้เราตั้งแต่แรก ? ถ้าจะดูแลหัวใจจริง ๆ การกินอาหารที่มนุษย์วิวัฒนาการมากับมันมาตลอด เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ ตับ และไขมันดี ๆ อาจเป็นคำตอบที่เรียบง่ายและมีเหตุผลมากกว่าการไล่ตามสารสกัดที่อุตสาหกรรมบอกว่าจำเป็น แต่ธรรมชาติอาจไม่เคยเห็นว่ามันสำคัญเลยก็ได้
#pirateketo #ฉลาก3รู้ #กูต้องรู้มั๊ย #ม้วนหางสิลูก